top of page
Search

โอกาสทางธุรกิจหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการสร้างความยั่งยืน


ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในหลายประเด็น จะเห็นได้จากผลการศึกษาของหลายหน่วยงาน เช่น องค์การสหประชาชาติ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ว่าประเทศในพื้นที่นี้ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มมากขึ้น การจัดการพลาสติกที่ไม่มีประสิทธิภาพ ระบบบำบัดน้ำเสียที่ยังไม่ดีพอ การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่ไม่หมุนเวียน ไปจนถึงการตัดไม้ทำลายป่า แม้ประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) สูงที่สุดในภูมิภาค ที่อันดับ 41 ของโลก แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าทุกประเทศในแถบนี้ยังไม่มีส่วนในการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ดีมากนัก แม้จะมีความได้เปรียบอยู่ในมือ อย่างการเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพกว่า 20% ของโลก มีจำนวนประชากรคิดเป็น 10% ของโลก และมีบริเวณแผ่นดินคิดเป็น 3% ของโลก ด้วยเหตุทั้งหมดที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีพื้นที่ ที่ต้องการการแก้ปัญหา อันจะนำไปสู่การพัฒนาอีกมาก ซึ่งการขับเคลื่อนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Economy) จะเป็นตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างมากอีกด้วย

.

มีการคาดการณ์ว่าหากภาคธุรกิจเข้ามาให้ความสนใจ และลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Economy) มากขึ้น จะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 33 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว โดยเมื่อวิเคราะห์ทั้งส่วนของโอกาสที่เกิดขึ้นใหม่ (New Growth) รวมกับส่วนของการปรับปรุงประสิทธิภาพ และค่าใช้จ่ายที่ประหยัดลงไป (Efficiencies & Savings) แล้ว ก็จะพบว่า ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับโอกาสทางธุรกิจสูงที่สุดคือ อุตสาหกรรมพลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 8.89 ล้านล้านบาท ผ่านการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สร้างมลพิษต่ำ การใช้พลังงานอย่างมีความรับผิดชอบ และการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามมาด้วยอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีมูลค่า 6.75 ล้านล้านบาท ผ่านการเข้าถึงคุณค่าทางโภชนาการที่สะดวก การใช้งานพื้นที่เกษตรกรรมให้เกิดผลิตผลสูงสุด และการใช้ทรัพยากรในการผลิตอาหารอย่างคุ้มค่า ถัดมาคืออุตสาหกรรมการผลิตและการขนส่ง ซึ่งมีมูลค่า 6.59 ล้านล้านบาท ด้วยห่วงโซ่อุปทานที่มีความโปร่งใส และเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยคาร์บอน และกระบวนการผลิตที่ดี นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมการเติบโตของเมือง อุตสาหกรรมการเงิน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกด้วย เมื่อธุรกิจแต่ละอุตสาหกรรมเติบโตขึ้น ก็จะส่งผลให้เกิดการจ้างงาน 5-6 ล้านตำแหน่ง รวมถึงการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ภายในปี พ.ศ. 2573 กว่า 6-8% อีกด้วย

.

ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้ามามีส่วนเติมเต็มการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินธุรกิจที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม (Green Economy) ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจมหาศาลอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น ธุรกิจควรมองสถานการณ์นี้ให้เป็นโอกาส ในการเป็นองค์กรที่ไม่เพียงสร้างคุณค่าที่ดีกว่าต่อโลก แต่สามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ รวมถึงเลือกที่จะเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transformation) เพื่อให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเข้ามามีส่วนในการสร้างคุณค่าที่ดีกว่าให้กับโลกต่อไป

.

Analyzed by BRANDigest

.

166 views

Comments


bottom of page