.
การสร้างธุรกิจโดยมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน (Purpose-Driven) เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากธุรกิจชั้นนำจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในโลก เริ่มตีแผ่เรื่องราวการสร้างธุรกิจที่มุ่งไปสู่เป้าประสงค์ที่มีคุณค่ามากกว่าการสร้างกำไรสูงสุดให้กับองค์กร ซึ่งการดำเนินการตามประสงค์ มีจุดร่วมกันคือการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้กับผู้คน และสิ่งแวดล้อม การมีอยู่ของแบรนด์สามารถสร้างโลกที่ดีกว่า และแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ โดยแต่ละองค์กรอาจมุ่งเน้นประเด็นในการสร้างคุณค่าที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่เติบโต (Economic Growth) การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี (Well-being) หรือการยกระดับสิ่งแวดล้อม (Environmental Enhancement) ซึ่งแต่ละแบรนด์ที่ดำเนินการอย่างมีเป้าหมายเหล่านี้ ก็มักได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) และร่วมสร้างการเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน
.
องค์กรที่มีชื่อเสียงในระดับโลกมากมายเป็นตัวอย่างองค์กรที่สามารถศึกษาแนวทางการสร้างธุรกิจโดยมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนได้เป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นคือ Unilever เจ้าของแบรนด์สินค้า FMCG ที่ทุกวันนี้มีคนใช้กว่า 2,500 ล้านคนทั่วโลก ก็ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้ 3 ภารกิจหลัก คือ 1. ช่วยเหลือคนมากกว่า 1,000 ล้านคน ให้มีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 2. ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลงให้ได้ครึ่งหนึ่งจากปัจจุบัน 3. ทำให้ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นไปพร้อมกับการเติบโตของธุรกิจขององค์กร ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นแกนหลักในการกำหนดเป้าประสงค์ (Purpose) ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้โลกและสังคม หรือคุณภายชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้องค์กรเล็กใหญ่จะพยายามดำเนินรอยตามองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความยั่งยืน แต่บางครั้งผลลัพธ์ก็ยังไม่ได้น่าพึงพอใจ และยังไม่สามารถสร้างธุรกิจโดยมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน หรือสร้างคุณค่าพร้อมกับการเติบโตได้เท่ากับที่คาดการณ์ไว้ นั่นอาจเป็นเพราะธุรกิจละเลยกฎเหล็ก 3 ข้อ ของการสร้างธุรกิจโดยมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน (Purpose-Driven) ก็เป็นได้ โดย 3 ข้อที่ว่าคือ..
.
แสดงถึงแก่นแท้ (Authenticity) ธุรกิจควรแสดงถึงแก่นแท้ หรือความเป็นตัวตนของธุรกิจอย่างซื่อตรง และจริงใจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อแบรนด์และเป้าหมายในการสร้างคุณค่าที่ดีกว่าไปพร้อมกัน ทั้งนี้ธุรกิจต้องฝัง (Embed) ความเป็นตัวตน และการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ลงไปในกระบวนการต่าง ๆ ของธุรกิจตั้งแต่ระดับกลยุทธ์ไปจนถึงระดับปฏิบัติการ
.
ความสมดุล (Balance) ธุรกิจต้องสร้างความสมดุลระหว่าง การสร้างคุณค่าให้กับผู้คนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการนาน และใช้เวลามากกว่าผลลัพธ์จะแสดงผลให้เห็นเป็นประจักษ์ กับการสร้างผลตอบแทนให้กับองค์กร และผู้ถือหุ้นตลอดช่วงการทำธุรกิจ (ในรูปที่จับต้องได้ง่าย เช่น กำไร, ผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม, ส่วนแบ่งทางการตลาด, ฯลฯ) เนื่องจากธุรกิจก็มักต้องใช้เงินในการหล่อเลี้ยงให้เดินต่อไปได้ และใช้สร้างความเชื่อมั่น หากธุรกิจสามารถสร้างสมดุลได้อย่างดี ก็จะสามารถสร้างคุณค่าที่ดีกว่าไปพร้อม ๆ กับการสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงได้อย่างยั่งยืน
.
ความต่อเนื่อง (Consistency) ธุรกิจควรสื่อสารเป้าประสงค์ (Purpose) ขององค์กรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้คนในองค์กร เข้าใจถึงความสำคัญ เห็นภาพเดียวกัน และรู้ว่าตนต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อทุกคนมีวิสัยทัศน์เดียวกันก็จะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่การสร้างคุณค่าที่ดีกว่าให้กับสังคม และโลกได้ ซึ่งหากธุรกิจสามารถส่งมอบผลงานตามที่สัญญาไว้ได้ (ทำได้ตามเป้าหมายที่ประกาศไว้) ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และได้รับการสนับสนุนต่อไป
.
การสร้างธุรกิจโดยมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน เป็นกระบวนการที่ไม่สิ้นสุด เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยี การเติบโตขึ้นของประชากร และการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดเร็วขึ้นทุกวัน ทำให้ปัญหาในสังคมเพิ่มมากขึ้น มีหลายมิติมากขึ้น และซับซ้อนมากขึ้น หากธุรกิจต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากการมีเป้าประสงค์ที่ดี และการดำเนินตามกฎเหล็กที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ธุรกิจยังต้องรู้จักปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ในอนาคตก็อาจมีกฎอะไรอีกมากมายที่เพิ่มขึ้น และธุรกิจควรยึดถือ แต่สุดท้ายคำถามเดียวที่ธุรกิจต้องตอบให้ได้คือการมีอยู่ของธุรกิจสร้างคุณค่าที่ดีกว่าให้กับโลกนี้ได้อย่างไร ถ้าเข้าใจและดำเนินการอย่างสุดความสามารถ ก็จะสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นธุรกิจที่ดีกว่าไปอีกก้าวหนึ่งได้อย่างดี
.
Analyzed by BRANDigest
.
Comments