top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

สภาพแวดล้อมที่ดีกว่า เพื่อผู้สูงอายุที่แข็งแรง


สังคมสูงวัยเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากขึ้น เนื่องจากหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้โครงสร้างประชากรในหลายประเทศทั่วโลก เบนเข้าหาการเป็นสังคมสูงวัยกันมากขึ้น และนำมาซึ่งความท้าทายในหลายมิติ ในขณะเดียวกันรายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็แสดงให้เห็นว่า ไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลก ที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aging Society) คือมีสัดส่วนผู้สูงวัย 14% ของประชากรทั้งหมด ภายในปี พ.ศ. 2565 และหลังจากนั้นจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยสุดขีด (Hyper-aged society) คือมีสัดส่วนผู้สูงวัยถึง 20% โดยอาจใช้เวลาเพียง 9 ปีในการเปลี่ยนแปลงจากสังคมสูงวัย สู่สังคมสูงวัยสุดขีด ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่เร็วกว่าประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้เวลาถึง 11 ปีอีกด้วย

.

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ยังระบุว่าความท้าทายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คือสัดส่วนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับการลดลงของประชากรวัยแรงงาน เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ระดับรายได้ต่อหัว และระดับการศึกษาของไทย ก็ยังต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ทำให้ผลที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยของไทย เกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงกว่าในหลายประเทศ ดังนั้น การเตรียมความพร้อม และสร้างคุณค่าจากแนวโน้มดังกล่าวที่เกิดขึ้นจึงควรให้ความสำคัญจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้สามารถพลิกวิกฤต ให้เป็นโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าวได้

.

การเตรียมความพร้อมรับมือต่อสังคมสูงวัย อาจต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจพื้นฐานที่ดีของการเป็นผู้สูงวัยที่แข็งแรง เพื่อให้ทุกภาคส่วน สามารถออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อแก่การดำรงชีวิตอย่างแข็งแรงของผู้สูงวัยได้ โดยคำนิยามขององค์การอนามัยโลก ถึงการเปลี่ยนแปลงไปเป็นผู้สูงวัยอย่างแข็งแรง คือการเติบโตที่ยังคงไว้ซึ่งความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่เห็นว่ามีคุณค่า เพื่อให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ซึ่งครอบคลุมถึงการตอบสนองความต้องการพื้นฐาน การได้เรียนรู้ เติบโต และตัดสินใจ สามารถเคลื่อนไหวได้ สามารถสร้างและรักษาความสัมพันธ์ รวมถึงสามารถสร้างคุณค่าให้แก่สังคม เมื่อเข้าใจคำนิยามดังกล่าว ผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุ ก็ควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต และให้ผู้สูงอายุเติบโตอย่างแข็งแรงได้

.

ในระดับของเมือง การเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากเราสามารถ สร้างเมืองที่รองรับทุกช่วงวัย ก็จะสามารถเชื่อมต่อผู้สูงวัยกับเมืองและสร้างคุณค่าร่วมกันได้ ดังเช่นตัวอย่างเมืองนิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกา ที่เกิดความร่วมมือกันระหว่าง สำนักนายกรัฐมนตรี สภาเมืองนิวยอร์ก และสถาบันการแพทย์นิวยอร์ก ในการสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อทุกช่วงวัย เพื่อเชื่อมต่อผู้สูงอายุและเมืองเข้าด้วยกัน โดยคำแนะนำจากสภาเศรษฐกิจโลก ในรายงาน Ageing and Urbanization: Principles for Creating Sustainable, Growth-Oriented and Age-Friendly Cities ระบุว่าการสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อทุกช่วงวัย ทำได้โดย การปรับปรุงสภาพแวดล้อมส่วนโครงสร้างพื้นฐาน และระบบขนส่ง เพื่อให้ผู้คนในทุกช่วงวัย สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก เชื่อมต่อกับชุมชน ถัดมาคือการสร้างบ้านที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ มีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยรองรับ และสุดท้าย คือเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลบริการส่งเสริมสุขภาพ การเข้าถึงการทำงาน การศึกษา ศิลปะ และการพักผ่อนสำหรับทุกช่วงวัย เพื่อสร้างวิถีชีวิตแบบใหม่ ๆ ที่ดีต่อการเรียนรู้และเติบโต

.

การเตรียมพร้อมรับมือต่อสังคมสูงวัย มีความสำคัญ และมีความเร่งด่วนกว่าที่หลายคนคิด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องใช้ความเข้าใจ และความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยแต่ละเมืองอาจนำคำแนะนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเป้าหมายของแต่ละเมือง อย่างไรก็ตาม หากต้องการรับมือให้ทันท่วงที และสร้างคุณค่าให้กับทรัพยากรมนุษย์สูงวัยเหล่านี้ เมืองควรพิจารณาวางแผน ดำเนินการ และลงทุนโดยเร็วที่สุด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ของคนทุกวัยในสังคม .

Analyzed by BRANDigest

.

245 views

Comments


bottom of page