top of page
Search

คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เพื่อองค์กรที่ดีกว่า


คำว่า “องค์กรที่ดีกว่า” สำหรับแต่ละองค์กรก็คงมีนิยามที่แตกต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าจะต่างสักแค่ไหน ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมองให้ครบทั้ง 3 ด้าน ซึ่งก็คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) คุณภาพชีวิตที่ดี (Well-being) และสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Environmental Enhancement) โดยมี “คน” หรือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรเป็นหนึ่งในนั้น

การมองไปที่คุณภาพชีวิต (Well-being) ของพวกเขา ไปจนถึงระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพและความปลอดภัย (Health & Safety), การพัฒนาคน (Talent Development), สิทธิและความเท่าเทียม (Right & Equality), องค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) และการมีส่วนร่วมกับชุมชน (Community Engagement) โดยประเด็นทั้ง 5 ด้านนี้ เป็น 5 ตัวชี้วัด (Parameter) จากทั้งหมด 18 ตัวชี้วัดของดัชนีชี้วัดเพื่อองค์กรที่ดีกว่า (Better Corporate Index) ที่จะช่วยให้องค์กรที่ต้องการก้าวไปสู่จุดที่ดีกว่า สามารถมองเห็นแนวทางว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องให้ความสำคัญ



ตอนที่ 1 : Health and Safety


Health and Safety เป็นหนึ่งในตัวชี้วัด (Parameter) ด้าน Well-being ของดัชนีชี้วัดระดับสากลมากมาย อย่าง Down Jones Sustainability Indices (DJSI) หรือ OECD Better Life Index รวมถึงเป็นตัวชี้วัดของดัชนีชี้วัดเพื่อโลกที่ดีกว่า หรือ Better World Index (BWi) ด้วย แน่นอนว่าพนักงานในองค์กรเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ธุรกิจจะสามารถเติบโตไปข้างหน้าได้ โดยไม่ได้คำนึงถึงพวกเขา


ตัวอย่างบริษัทที่ติด 1 ใน 10 จากการจัดอันดับ 100 บริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในปีนี้ ของนิตยสารธุรกิจชั้นนำ Fortune ร่วมกับ Great Place to Work อย่าง


Cisco ที่สร้าง LifeConnections Health Centers ในสาขาหลาย ๆ ประเทศ เพื่อให้คำปรึกษาด้านโภชนาการและการใช้ชีวิต ให้คำปรึกษาในการดูแลสุขภาพทั้งในกรณีปกติและเร่งด่วน ให้บริการด้านสุขภาพอื่น ๆ รวมถึงการดูแลสุขภาพจิตใจของพนักงานเช่นกัน ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้ Cisco เป็นที่ที่ทุกคนสามารถพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตได้ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องงาน อย่างเช่น การวางแผนทางการเงิน หรือแผนเกษียณของพนักงานแต่ละคน หรือ การรับมือกับความกดดันและความเครียด โดยมีทั้งรูปแบบ Offline และ Online


หรือ American Express ที่ให้ความสำคัญกับคนในองค์กรไม่น้อยไปกว่าลูกค้าที่พวกเขาให้บริการ ผ่าน Healthy Living โปรแกรมที่ช่วยให้พนักงานสามารถเข้าถึงการดูแล และได้รับแรงจูงใจในการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ American Express ยังมีโปรแกรม Healthy Minds ที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสภาพจิตใจ การวางแผนชีวิต หรือแก้ไขข้อกังวลส่วนตัว เป็นต้น


เพราะพนักงานทุกคนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรการให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา ให้มีสุขภาพที่ดีและปลอดภัยจะเป็นก้าวแรกที่ช่วยให้พวกเขามีทั้งกำลังกายและกำลังใจในการส่งมอบผลงานที่ดี มีคุณภาพ และมีความสุขในการร่วมขับเคลื่อนองค์กรไปสู่สถานะที่ดีกว่า ทั้งในวันนี้และในอนาคต



ตอนที่ 2 : Talent Development


“จะพัฒนาคนในองค์กรไปทำไม เพราะไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าพวกเขาจะไม่ลาออก” ถ้าคุณเคยได้ยินอะไรทำนองนี้ สิ่งที่น่ากลัวกว่าน่าจะเป็น แล้วถ้าพวกเขายังอยู่กับเราล่ะ...


จริงอยู่ที่การมีผู้นำที่ดีจะช่วยวางเส้นทางของธุรกิจให้ไปสู่เป้าหมายได้ แต่ไม่ว่าเส้นทางที่วางไว้จะดีแค่ไหน ก็คงไม่มีความหมายอะไร หากขาดกำลังในการขับเคลื่อนจากพนักงาน


ธุรกิจระดับโลกจำนวนไม่น้อยจึงหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน (Talent Development) ซึ่งอาจจะทำโดยการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือการออกแบบโปรแกรมที่ช่วยพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ให้กับพนักงานในรูปแบบที่หลากหลาย แต่ยังคงสอดคล้องกับคุณค่าที่องค์กรยึดถือ และตอบโจทย์เป้าหมายทางธุรกิจ เช่น 2 ยักษ์ใหญ่ที่ติด 10 อันดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกประจำปี 2020 อย่าง...


Google บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่เชื่อว่าการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด คือ การลงทุนเพื่อพัฒนาคนในองค์กร เพราะเมื่อใดที่พวกเขามีความรู้ และความสามารถที่หลากหลาย ก็จะสามารถแก้ปัญหา และคิดค้นนวัตกรรมที่ดีกว่าให้กับธุรกิจได้ Google จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริม “Culture of Learning” (วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้) โดยให้พนักงานได้พัฒนาทักษะที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นความชอบส่วนตัว อย่าง การเรียนเขียนโค้ด ทำอาหาร หรือกีตาร์ และที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น การฝึกเป็นผู้นำ หรือการเรียนรู้ผ่านโปรแกรมที่มีชื่อว่า “Career Guru” ที่จะช่วยให้พนักงานในองค์กรสามารถเรียนรู้จากหัวหน้า หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ รวมถึงการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ส่งต่อความรู้ให้เพื่อนร่วมงานผ่าน โปรแกรม Googler-to-Googler หรือ G2G ด้วย


Microsoft ผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก ที่มีพันธกิจในการสนับสนุนให้ทุกคนและทุกองค์กรให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ซึ่งสำหรับ Microsoft แล้ว ทุกคนที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงแค่ลูกค้า แต่เป็นทุกคนในองค์กรด้วย โดย Microsoft มุ่งเน้นการปลูกฝังแนวคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ให้กับพนักงาน โดยเปลี่ยนวัฒนธรรมจาก “know-it-all” (รู้ทุกอย่าง) ไปสู่ “learn-it-all” (เรียนรู้ทุกอย่าง) Microsoft ยังมีโครงการที่ช่วยพัฒนาพนักงานอย่างโครงการ Hackathon ที่เปิดโอกาสให้แต่ละแผนกได้ลองมาทำงาน เรียนรู้ความผิดพลาด และความสำเร็จร่วมกัน ซึ่งเราอาจจะได้เห็นผลลัพธ์ของสิ่งนี้ จากการที่พวกเขาสามารถพัฒนาWindows Ecosystem ได้อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ Microsoft ยังคงเป็นผู้นำในตลาด Mobile Application รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย


การสนับสนุนพนักงานด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ และทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ หรือการพัฒนาแนวคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของการพัฒนาคนเท่านั้น ยังมีวิธีอีกมากมายที่ธุรกิจสามารถนำมาปรับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาความสามารถ (Competency) การเสริมทักษะที่มีอยู่ (Upskill) หรือการพัฒนาทักษะใหม่ (Reskill) เป็นต้น ให้พนักงานและธุรกิจเติบโตสู่สถานะที่ดีกว่าไปพร้อมกัน



ตอนที่ 3 : Rights & Equality


บนโลกนี้มีประเทศทั้งหมด 195 ประเทศ และมีภาษาที่ใช้กว่า 6,500 ภาษา ยังไม่นับรวมศาสนา สัญชาติ สีผิว หรือแม้กระทั่งความคิด ที่จะยิ่งทวีความหลากหลายให้มีมากขึ้น


เมื่อ “คน” เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ แน่นอนว่าการให้สิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกับทุกคนในองค์กร โดยปราศจากเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับศาสนา สัญชาติ เพศ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ธุรกิจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ในการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ต่อไป


หลังเหตุการณ์ที่ชายผิวสีชาวอเมริกันเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ทั่วโลกต่างตื่นตัว ออกมาประกาศต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ หรือเหยียดสีผิวอย่างเป็นทางการ

ไม่กี่วันที่ผ่านมา บริษัทที่ติดอันดับ Fortune 100 อย่าง Bank of America, Walmart, Comcast, Apple และบริษัทอื่น ๆ ได้บริจาคเงินให้กับองค์กรที่ต่อสู้กับปัญหาการเหยียดเชื้อชาติและความไม่เท่าเทียม ซึ่งคิดเป็นเงินรวมมูลค่ากว่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดย Bank of America เป็นผู้ที่ประกาศว่าจะบริจาคให้ถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในบรรดาธุรกิจทั้งหมดหรือบางองค์กรก็ได้ออกนโยบายและตั้งเป้าหมายในการเพิ่มอัตราจ้างชาวผิวสีเพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเชื้อชาติ โดยมุ่งมั่นที่จะต่อต้านการเหยียดสีผิวในฐานะนายจ้างอย่างจริงจัง


อ้างอิงจาก CNBC มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า วิธีการที่ธุรกิจตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เปรียบเสมือนฝันร้ายดังกล่าว นอกจากจะทำให้สังคมรับรู้ถึงจุดยืนที่ธุรกิจมีแล้ว ยังช่วย ทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัย หรือเกิดความรู้สึกไว้วางใจในองค์กรของตัวเองมากขึ้น


ไม่ใช่แค่เรื่องสีผิวเท่านั้นที่ยังไม่ได้รับสิทธิและความเท่าเทียม เรื่องเพศก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายองค์กรให้ความสนใจ เช่น L’oreal บริษัทชั้นนำด้านความงาม ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 บริษัทที่มีความสมดุลทางเพศมากที่สุด จาก 3,400 บริษัท ในการจัดอันดับ Equileap (องค์กรชั้นนำที่ให้บริการข้อมูลเชิงลึกด้านความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ) ปี 2019 ซึ่งติดอันดับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และได้รับคัดเลือกจาก Bloomberg ให้เป็น 1 ใน 230 บริษัท ในดัชนีความเท่าเทียมทางเพศประจำปี 2019 (Bloomberg Gender-Equality Index) โดย L’oreal ส่งเสริมความเสมอภาคของผู้หญิงในที่ทำงานและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 15 ปี


ส่วนในไทยเอง เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นแสนสิริ บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้บุกเบิกรายแรกของไทยที่ร่วมลงนามในสัญญา UN Global Standards of Conduct of Business เพื่อแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อชาว LGBTI (Lesbian Gay Bisexsual Transgender และ Intersex) และต้องการสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมของชาวLGBTI ไม่ว่าจะเป็นกับพนักงาน หรือพันธมิตรคู่ค้าก็ตาม


เมื่อองค์กรมอบสิทธิขั้นพื้นฐานที่ครบถ้วนและโอกาสที่เท่าเทียมแล้ว สภาพแวดล้อมในการทำงานก็จะเอื้อต่อการแสดงศักยภาพมากขึ้น พวกเขาจะสามารถแสดงพลังได้อย่างเต็มที่ ให้พวกเขาและธุรกิจเติบโตสู่สถานะที่ดีกว่า พร้อมกับสร้างสังคมที่ดีกว่า เพื่อโลกที่ดีกว่า



ตอนที่ 4 : Happy Workplace


จากวิกฤต COVID-19 ที่จุดประกายให้ธุรกิจทั่วโลกมีนโยบายในการทำงานที่บ้าน หรือการทำงานทางไกล แต่การใส่ใจดูแลความสุขของพนักงาน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน จะทำให้พวกเขาสามารถส่งมอบผลลัพธ์ที่ดีให้กับบริษัท หรือลูกค้าได้ เพราะพนักงานที่มีความสุขไม่เพียงจะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่พวกเขายังให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น เพิ่มยอดขายให้สูงขึ้น และมีความภักดีต่อองค์กรมากขึ้นด้วย Medium เว็บไซต์ชุมชนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ของโลก บอกไว้ว่า การทำให้พนักงานมีความสุขจะช่วยให้ธุรกิจประหยัดเงินและเวลา ในการหาพนักงานใหม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 16% ถึง 213% ของเงินเดือน


จากการจัดอันดับองค์กรที่มีพนักงานที่มีความสุขที่สุดในสหรัฐอเมริกาปี 2019 โดย Comparably ที่วิเคราะห์ข้อมูลของพนักงานกว่า 10 ล้านคน จากบริษัทในสหรัฐฯ กว่า 50,000 แห่ง ซึ่งมี


Zoom แพลตฟอร์มที่ให้บริการการประชุมออนไลน์ เป็นผู้ครองอันดับหนึ่ง Zoom มีวัฒนธรรมขององค์กรที่เรียกว่า “Delivering happiness” โดย Happiness หรือเจ้าความสุขที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงแค่ความสุขของลูกค้า แต่พวกเขายังให้ความสำคัญกับความสุขของของพนักงานด้วย Lynne Oldham หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของ Zoom เคยกล่าวว่า “เราเชื่อว่าพนักงานที่มีความสุข จะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่มีความสุขมากขึ้น ดังนั้นเราจึงทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนของเรามีความสุข” Zoom สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เปิดกว้าง สนับสนุนให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น และมีสวัสดิการในการดูแลพนักงานเพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะดำรงอยู่ ณ ที่แห่งนี้อย่างมีความสุข


ส่วน LinkedIn เครือข่ายสังคมออนไลน์ด้านอาชีพ หรือความเชี่ยวชาญที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลอันดับ 2 LinkedIn เติบโตจากการมีพนักงานเพียง300 คนเมื่อ 12 ปีที่แล้ว มาเป็นราว ๆ 20,500 คน ในปัจจุบัน และหนึ่งในที่มาความสำเร็จของ LinkedIn นั้นก็คือ ความมุ่งมั่นที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าจะต้องผ่านช่วงเวลาแห่งการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงสักแค่ไหน แต่วัฒนธรรม และสิ่งสำคัญที่พวกเขายึดถือยังคงเหมือนเดิม Dan Shapero รองประธาน Global Solutions เคยได้อธิบายไว้ว่า LinkedIn เป็นสถานที่ที่ผู้คนทำงานหนักมาก เพราะพวกเขามองเห็นคุณค่า และรู้สึกเชื่อมโยงกับงานที่ตัวเองทำ นอกจากนี้บริษัทยังทุ่มเทอย่างหนัก ที่จะทำให้คนในองค์กรเกิดความรู้สึกชอบที่จะมาทำงาน หนึ่งในวัฒนธรรมของ LinkedIn คือการทำให้คนมีแรงบันดาลใจจากผลงานที่พวกเขาเป็นเจ้าของ จากเพื่อนร่วมงานที่ตั้งใจทุ่มเทกับการทำงาน และพร้อมฉลองความสำเร็จไปด้วยกัน


ไม่ว่าจะเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมแบบ Zoom หรือ LinkedIn ก็ตาม การดูแลพนักงานให้พวกเขามีความสุข ในแบบที่สอดคล้องกับความเชื่อ และสิ่งที่ธุรกิจยึดถือ จะเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้ธุรกิจมีความแข็งแรง และมีความพร้อมที่จะเติบโตไปข้างหน้าสู่สถานะที่ดีกว่าได้อย่างมั่นคง



ตอนที่ 5 : Community Engagement


คงเป็นเรื่องยาก หากธุรกิจจะก้าวไปสู่จุดที่ดีกว่าโดยที่คิดถึงแค่เพียงเรื่องราวของตนเอง การมีส่วนร่วมกับชุมชน ไม่ว่าจะเกิดจากการริเริ่มของธุรกิจเอง หรือสนับสนุนสิ่งที่ชุมชนทำอยู่แล้ว นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างธุรกิจกับชุมชน สามารถนำไปสู่การยอมรับและสนับสนุนธุรกิจแล้ว ยังช่วยทำให้คนในองค์กรได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่มีคุณค่า ทำให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจในตนเองและองค์กร ที่มากกว่าในเรื่องของการทำงานด้วย


อย่าง “ดอยคำ” ธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ที่มีมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาทโดยไม่ได้เริ่มต้นจากความต้องการแสวงหาผลกำไรในการทำธุรกิจ แต่เริ่มต้นจากการเป็นมูลนิธิโครงการหลวงเพื่อสร้างอาชีพให้กับชาวเขา แล้วค่อย ๆ ขยับขยายจากโรงงานหลวง 1 แห่ง เป็น 3 แห่ง ถึงแม้ว่าดอยคำจะเป็นธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบในปัจจุบัน ดอยคำก็ยังคงสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะผ่านการพัฒนาพื้นที่ตามหลักคิด “บวร(ร)” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน และโรงงานหลวงที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทั้งในด้านรายได้ ผ่านการสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ ด้านความรู้ ผ่านการพัฒนาแหล่งความรู้ของชุมชน ด้านวัฒนธรรม ผ่านการสืบสานกิจกรรมทางศาสนา และกิจกรรมในเทศกาลต่าง ๆ ของไทย


ดอยคำเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่บทบาททางธุรกิจก็เติบโต ในปี 2559 ดอยคำมีรายได้กว่า 1,700 ล้านบาท โต 20% ของปีก่อนหน้า เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ Win-win กับทุกฝ่าย ธุรกิจมีกำไร ผู้คนมีรายได้


อีกตัวอย่างของการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน คือการให้ในสิ่งที่ธุรกิจมีกับชุมชน อย่างหนึ่งโครงการภายใต้ "เซ็นทรัล ทำ" โดยบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของไทย แน่นอนสิ่งที่เซ็นทรัลมี คือพื้นที่ศูนย์การค้า ที่เป็นแหล่งรวมผู้คน พวกเขาจึงใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้โดยมอบพื้นที่ตรงนี้ให้กับเกษตรกร สร้างตลาดจริงใจ หรือ Farmers’ Market ให้เกษตรกรมากระจายสินค้าผ่านศูนย์การค้า สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร ทำให้ลูกค้าของตัวเองสามารถเข้าถึงผลผลิตที่มีคุณภาพและราคาถูก


ไม่เพียงแค่เซ็นทรัลเท่านั้นที่สร้างโอกาสแบบนี้ แต่ยังมี PTTOR ธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกก็ใช้พื้นที่ในสถานีบริการ PTT Station เป็นศูนย์กลางของชุมชน หรือ Living Station เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกร หรือผลิตภัณฑ์ของชุมชน โดย PTTOR ได้จับมือร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย คัดเลือกผลิตภัณฑ์ในแต่ละท้องถิ่นมาเป็นสินค้า “ไทยเด็ด” ที่จะนำมาจัดจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งมีวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 107 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2562)


จะเห็นได้ว่า แต่ละธุรกิจก็มีวิธีสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนที่แตกต่างกันไป ตามลักษณะของธุรกิจ วิธีคิด หรือความเชื่อ ของตนเอง ไม่ว่าวันนี้ธุรกิจจะเติบโตไปไกลสักแค่ไหน ก็ต้องอย่าลืมว่าผู้ที่คอยสนับสนุน หรือเป็นลูกค้าของธุรกิจเองนั้นคือคนที่อยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน หากคุณภาพชีวิตของพวกเขายังไม่ดี ก็คงจะเป็นเรื่องยากที่ธุรกิจจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน



ที่มา :

ดอยคำ

Adecco Group

American Express 2018–2019 CSR Report

Central Group

CISCO CSR Report 2019

CNBC

Comparably

E-finance Thai

Fortune

Google

Great Place To Work

LinkedIn

Medium

Microsoft

PTTOR

Sansiri

Statista

World Economic Forum

Zoom



173 views

Comments


bottom of page