ไม่ว่าจะเป็นในช่วง COVID-19 หรือก่อนหน้านี้ เมื่อสังคมต้องเจอกับปัญหา ผู้ที่แข็งแรงกว่า หรือผู้ที่ถูกมองว่าได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากการใช้ทรัพยากรบนโลกใบนี้อย่าง “ภาคธุรกิจ” จึงถูกตั้งความหวังว่าจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านความเป็นอยู่ของผู้คน หรือในด้านสิ่งแวดล้อม การแสดงจุดยืนว่าธุรกิจของตนเอง เป็นธุรกิจที่ดีนั้น จึงเริ่มเกิดขึ้น
การกุศล หรือ Philanthropy
คือจุดเริ่มต้นของการทำความดีที่ง่ายและเร็วที่สุด โดยมีความต้องการของสังคมเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อน (Society Driven) ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงิน หรือสิ่งของก็ตาม ซึ่งงบประมาณในการทำสิ่งนี้มักถูกจัดสรรปันส่วนตามผลกำไรของธุรกิจ คือ หากธุรกิจสามารถทำกำไรได้มาก ก็จะบริจาคได้มาก และในทางกลับกัน หากกำไรเหล่านั้นลดลง งบประมาณในการบริจาคก็จะลดลงตามไปด้วย
การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibility (CSR)
คือการจัดทำกิจกรรมหรือโครงการ เพื่อช่วยธุรกิจในการแสดงออกถึงการเป็นองค์กรในฐานะ Good Corporate Citizen ซึ่งมักจะมีตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน (Market Driven) เพราะตลาดต้องการเห็นธุรกิจทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อสังคม ในระดับที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยงบประมาณในการทำ CSR นั้นยังคงผันแปรตรงตัวต่อตัวเลขผลกำไรของธุรกิจ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งในการบริจาคและการทำ CSR นั้น ถูกมองว่าเป็น “ต้นทุน” (Cost) ของการทำธุรกิจ แน่นอนว่าถ้าตัวเลขผลประกอบการยังไปได้สวย การทำ CSR ก็จะไม่เป็นปัญหา ถ้าไม่ งบประมาณด้านนี้ก็มักถูกตัดออกเป็นอันดับแรก ๆ
การสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value (CSV)
คือ การทำธุรกิจที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ซึ่งมีคุณค่าของสังคม และความสามารถของธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อน ธุรกิจอาจจะเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาสังคม (Societal Value and Business Competency Driven) หรือการเติมเต็มคุณค่าบางอย่างที่สังคมถามหา กับการสร้างรายได้ของธุรกิจเข้าไว้ด้วยกัน โดยอาจมีการปรับกระบวนการบางอย่างของธุรกิจ หรือการออกแบบ Business Model ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่สังคมต้องการด้วย โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสิ่งเหล่านี้ จะถูกมองว่าเป็นการลงทุน มากกว่าการเพิ่มต้นทุนให้กับธุรกิจ เพราะธุรกิจจะสามารถสร้างรายได้จากคุณค่าร่วมบางอย่างที่ส่งมอบให้กับสังคม
การสร้างผลกระทบเชิงบวกสุทธิ หรือ Net Positive Impact (NPI)
คือการให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ (Profit) สังคม (People) และสิ่งแวดล้อม (Planet) โดยมีระบบนิเวศเป็นตัวขับเคลื่อน ธุรกิจสามารถเริ่มต้นจากความพยายามที่จะลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มผลกระทบเชิงบวกให้มากขึ้น จนสามารถสร้างผลลัพธ์ปลายทางที่เป็นผลกระทบเชิงบวกสุทธิได้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อสร้าง NPI นั้น ถูกมองว่าเป็นการลงทุนเหมือนกับ CSV เพราะสุดท้าย NPI จะช่วยให้ธุรกิจสามารถยกระดับทั้งระบบนิเวศ หากธุรกิจอยู่ในระบบนิเวศที่แข็งแรงแล้ว โอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ ก้าวสู่การเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืนก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สิ่งที่สำคัญกว่าการเป็นธุรกิจที่ดีนั้น คือการเป็นธุรกิจที่ดีกว่าที่ยังคงทำความดี และสามารถเติบโตได้ ดังนั้น การหากลยุทธ์ที่เหมาะสมในการเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่แพ้กัน สุดท้ายธุรกิจจึงต้องสามารถหาสัดส่วนการทำความดีที่เหมาะสมกับตัวเอง และตอบโจทย์เป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อให้สามารถเป็นธุรกิจที่ทำความดีและทำเงินได้อย่างยั่งยืน
Model :
Business and Goodness Matrix
Comments