เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDG) ได้รับการลงนามรับรองจากองค์การสหประชาชาติ ร่วมกับผู้นำจากประเทศสมาชิกทั่วโลกกว่า 193 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยประเทศไทยนั้นได้ให้ความสำคัญ และมีแผนการดําเนินงานที่สอดรับกับกรอบการพัฒนาดังกล่าวโดยได้นำเอาเป้าหมายดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งในประเด็นสำคัญของการวางทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
จนถึงวันนี้ นับเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่ SDG ได้กลายมาเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญ และมีการสร้างความร่วมมือกันของแต่ละภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น... “รัฐบาล” ของประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย อย่างสวีเดนหรือนอร์เวย์ ที่ตั้งเป้าว่าจะประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบของความก้าวหน้าในการบรรลุ SDG ข้อที่ 7 คือพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ หรือ รัฐบาลจาก 53 ประเทศ ที่ร่วมมือกับคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) เพื่อเสริมสร้าง และกระชับความร่วมมือในระดับภูมิภาค รวมถึงบูรณาการเพื่อความก้าวหน้าที่สอดคล้องกับ SDG “ประชาชน” ให้ความสนใจกับเป้าหมายในแต่ละข้อเพิ่มมากขึ้น จากรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่า การรับรู้ และการให้ความสำคัญต่อ SDG มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ “ธุรกิจ” ที่นำเอา SDG มาเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจโดยมี 4,710 บริษัททั่วโลกที่เข้ารับการประเมินดัชนีชี้วัดความยั่งยืนระดับโลกอย่าง Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ก็ได้ระบุให้ SDG เป็นหนึ่งในตัวแปรในการจัดอันดับของพวกเขาด้วย อย่างไรก็ดี ยังมีธุรกิจอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่ได้พูดถึง SDG หรืออาจจะยังมองไม่เห็นถึงความสำคัญในการตอบโจทย์เป้าหมายนี้ เราอาจจะสามารถพูดได้ว่า ธุรกิจเหล่านี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะพวกเขาไม่ได้เลือกที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจตัวเอง บนโลกที่ยิ่งนับวัน ยิ่งมีธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ธุรกิจเหล่านั้นอาจจะกำลังเสนอสินค้าและบริการ ที่ตอบโจทย์ด้านการใช้งาน (Function) ในแบบเดียวกันกับธุรกิจอีกจำนวนมหาศาล ดังนั้นการสร้างการดำรงอยู่ของตนเองให้มีความหมาย และยึดถือในคุณค่าที่สอดคล้องกับสังคม จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้พวกเขายังคงได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคอยู่ ยิ่งหากพวกเขาสามารถผนวกแผนธุรกิจ (Business Plan) เข้ากับแผนความยั่งยืน (Sustainability Plan) และแผนการสื่อสารได้ (Communication Plan) ได้ ก็จะยิ่งช่วยให้สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ว่า พวกเขารับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไร รวมถึงการดำรงอยู่ของพวกเขา ได้สร้างคุณประโยชน์อะไรให้กับโลกใบนี้บ้าง ที่มา : Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) Sustainable Development Report 2019 Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (UNESCAP)
Kommentare