top of page
Search

การสร้างอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนของธุรกิจเบียร์


เว็บไซต์ความรู้ด้านการบริหารจัดการเงิน Expensivity ได้เปิดเผยงานวิจัย World Beer Index 2021 ซึ่งวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคเบียร์ของผู้คนทั่วโลก พบว่าคนไทยมีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มเบียร์มากเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย (142 ขวด/คน/ปี) มากกว่าเกาหลีใต้ (130 ขวด/คน/ปี) และ จีน (127 ขวด/คน/ปี) รวมถึงเป็นประเทศที่ใช้เงินกับการบริโภคเบียร์มากที่สุดในเอเชียด้วยเช่นกัน อยู่ที่ราว ๆ 21,093 บาทต่อปี จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศไทยนับว่าโดดเด่นในกลุ่มประเทศของเอเชียมาก ซึ่งเมื่อมาดูในระดับโลก ปริมาณการบริโภคเบียร์ที่มากที่สุด ตกเป็นของสาธารณรัฐเช็ก สเปน และเยอรมัน ด้วยปริมาณการบริโภคที่มากถึง 468, 417 และ 411 ขวด/คน/ปี ตามลำดับ ด้วยความนิยมทั้งในประเทศไทย และในระดับโลก จึงกล่าวได้ว่าเบียร์เป็นเครื่องดื่มโปรดของใครหลายคน แต่คงมีไม่กี่คนที่ทราบว่า ในปลายศตวรรษที่ 21 นี้ ต้นทุนในการผลิตเบียร์จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งเรื่องของภัยแล้ง และรังสีความร้อนที่รุนแรง ผู้เชี่ยวชาญจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) กล่าวว่าภัยพิบัติดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อพืชผลทางการเกษตรอย่างข้าวบาร์เลย์ เมล็ดธัญพืช และน้ำ ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักสำคัญของเบียร์กว่า 95%

.

จากข้อมูลดังกล่าว ส่งผลให้ธุรกิจเบียร์ทั่วโลก วางแผนและดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมเบียร์ในระยะยาว โดยวิธีการของแต่ละแบรนด์ก็มีความหลากหลายและน่าสนใจแตกต่างกัน เช่น

.

Heineken ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้ผลิตเบียร์ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-neutral) ภายในปี พ.ศ. 2573 และมีห่วงโซ่อุปทานที่เป็นกลางทางคาร์บอน ตั้งแต่การเพาะปลูก บรรจุภัณฑ์ การกระจายสินค้า ไปจนถึงการลดอุณหภูมิ (Cooling) ภายในปี พ.ศ. 2583 โดยการดำเนินการหลัก ๆ คือการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงเบียร์ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 Heineken ก็ได้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนมากถึง 130 โครงการ ซึ่งรวมถึงโครงการโรงเบียร์จากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุด 5 ใน 10 แห่งของโลกอีกด้วย

.

Carlsberg ร่วมลงทุนเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม กับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund: WWF) เพื่อฟื้นฟูทุ่งหญ้าทะเล (Seagrass Meadows) รอบชายฝั่งของสหราชอาณาจักร เนื่องจากหญ้าทะเล สามารถซึมซับก๊าซเรือนกระจกได้เร็วกว่าป่าดิบชื้นถึง 35 เท่า แต่ปัจจุบันหญ้าทะเลเหล่านี้กำลังได้รับผลกระทบจากมลภาวะและสภาพอากาศที่รุนแรง ผู้บริโภคสามารถเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ได้ โดยซื้อเบียร์แพ็คพิเศษ ซึ่งโครงการนี้ก็ถูกดำเนินการตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงเบียร์ของ Carlsberg ให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2565

.

Anheuser-Busch InBev หนึ่งในบริษัทที่รับซื้อข้าวบาร์เลย์รายใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อส่งต่อให้บริษัทเบียร์รายใหญ่ อย่าง Budweiser, Corona และ Beck’s and Leffe ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อติดตามว่าข้าวบาร์เลย์ที่ใช้ผลิตเบียร์มาจากที่ไหน เบียร์นั้นสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรตลอดห่วงโซ่อุปทาน และถูกผลิตอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยนอกจากจะเป็นการให้ข้อมูลต่อผู้บริโภค โดยให้ผู้บริโภคสแกน QR Code แล้ว โครงการนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลผลิตของเกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพของการใช้น้ำ และพลังงาน รวมถึงพัฒนาคุณภาพของดินอีกด้วย

.

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลก และนั่นหมายถึงทุกธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่เช่นกัน โดยธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมก็จะพบกับความเสี่ยง หากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ปัจจุบันถูกทำลาย หรือหาได้ยากขึ้น เมื่อธุรกิจเป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้น ธุรกิจก็อาจต้องรับผิดชอบในการดูแลและสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรเหล่านั้นด้วย เมื่อการมีอยู่ของธุรกิจสร้างสถานะที่ดีกว่าให้กับสิ่งแวดล้อม ให้กับสังคมและให้กับโลกไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ผู้บริโภคก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนธุรกิจนั้นมากขึ้น หากการมีอยู่ของ Heineken Carlsberg และ Anheuser-Busch InBev ทำให้เกษตรกรข้าวบาร์เลย์มีชีวิตที่ดีขึ้น ข้าวบาร์เลย์เป็นพืชที่ไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หรือกลายเป็นพืชหายาก และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้า (เบียร์) ได้ในราคาที่ไม่สูงเกินไปทั้งในวันนี้และในอนาคต ซึ่งก็จะนับว่าเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเบียร์ ธุรกิจก็จะได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านั้น ทุกธุรกิจสามารถก้าวเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าให้กับโลก ไปพร้อมกับการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศ และธุรกิจของตนได้ นี่อาจเป็นหนทางสู่การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกอย่างดี หากทุกธุรกิจเริ่มลงมือทำวันนี้เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

.

Analyzed by BRANDigest

.


381 views

Comentarios


bottom of page