ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในหลายปีที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกอย่างมาก ส่งผลให้องค์กร และประเทศต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผ่านการดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการประกาศจุดยืน ในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นองค์กร หรือประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Greenhouse Gas Emissions) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ต้องใช้ความมุ่งมั่น และการปรับตัวอย่างมาก แต่องค์กร หรือประเทศเหล่านี้ทราบดีว่า หากไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้ มันอาจสายเกินไปที่จะเริ่มแก้ปัญหาในวันพรุ่งนี้ก็เป็นได้
.
องค์กรระดับโลกมากมายพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสะท้อนให้เห็นคุณค่าที่องค์กรเหล่านั้นยึดถือมากกว่าเพียงการทำกำไรสูงสุด ไม่ว่าจะเป็น Unilever แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค อันดับต้น ๆ ของโลก ที่ประกาศจะลดมลพิษให้เป็นศูนย์จากการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนผู้ผลิตรายย่อย (Suppliers) ทั้งหมด ภายในปี พ.ศ. 2582 หรือ Facebook แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ได้ประกาศถึงแผนการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% และลดมลพิษให้เป็นศูนย์จากการดำเนินธุรกิจทั้งห่วงโซ่คุณค่า ภายในปี พ.ศ. 2573 ไปจนถึงแบรนด์เฟอร์นิเจอร์จากประเทศสวีเดน อย่าง IKEA ที่ประกาศความมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Positive) ผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ตลอดการดำเนินการของธุรกิจเอง และในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ภายในปี พ.ศ. 2573 อีกด้วย
.
ในระดับของประเทศก็เช่นกัน หลายประเทศได้ประกาศเป้าหมายที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ตั้งแต่สหราชอาณาจักร ที่ผลักดันการบังคับใช้กฎหมายที่จะทำให้สหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 และตั้งเป้าจะยุติการผลิต จำหน่าย และนำเข้ายานพาหนะที่ใช้น้ำมันดีเซล และเบนซินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2583 เป็นต้นไป หรือประเทศฝรั่งเศส ที่แสดงจุดยืนเข้าร่วมพิชิตเป้าหมายนี้ โดยตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ภายในปีเดียวกันกับสหราชอาณาจักร โดยเริ่มต้นจากการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง 30-40% ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือแม้แต่ประเทศจีนก็ได้ให้คำมั่นเมื่อช่วงเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2563 ว่าจะร่วมต่อสู้กับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมโลก พร้อมตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2603 อีกด้วย
.
ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือประเทศ ทุกภาคส่วนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะให้ หรือไม่ได้ให้คำมั่น (Commitment) ไว้ก็ตาม แต่ข้อดีของการให้คำมั่น ต่อการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม คือการที่ผู้คนภายในองค์กร จะทราบถึงเป้าหมายที่มีร่วมกัน และมีส่วนร่วมต่อเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างถูกจุด แม้จะมีการดำเนินการเพียงคนละเล็กน้อย แต่การร่วมมือกันของทุกคนก็จะส่งผลให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด รวมถึงการประกาศเป้าหมายดังกล่าว ยังสะท้อนถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับองค์กร หรือประเทศอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่มีร่วมกัน และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างโลกที่ดีกว่าในที่สุด
.
Analyzed by BRANDigest
.
Comments