top of page
Search

จาก “Shareholder capitalism” สู่ “Stakeholder capitalism”

Updated: Dec 29, 2020


การดำเนินธุรกิจแบบเดิม อาจเป็นเรื่องปกติที่ต้องให้ความสำคัญ กับการสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ แม้แต่ Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2519 ยังเคยเขียนบทความใน New York Times ในหัวข้อ “ความรับผิดชอบทางสังคมเดียวของธุรกิจ คือการสร้างกำไร (The Social Responsibility Of Business Is to Increase Its Profits)” ซึ่งบทความนี้สะท้อนถึงบริบทในสังคม ที่ธุรกิจดำเนินอยู่ในระบบทุนนิยมผู้ถือหุ้น (Shareholder Capitalism) ที่กสิ่งเดียวที่ CEO ควรให้ความสำคัญคือการเพิ่มกำไรสูงสุดให้กับธุรกิจ แม้บทความนั้นจะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แต่เมื่อเวลาผ่านไป องค์กรธุรกิจและผู้คนในสังคมมากมาย ได้ตั้งคำถามถึงแนวคิดดังกล่าว และได้เปลี่ยนไปสู่แนวคิดใหม่ที่แตกต่างออกไปจากเดิม

.

ปัจจุบัน เราจะเห็นว่าการชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจ ได้เปลี่ยนแปลงจากการให้ความสำคัญเฉพาะกับผู้ถือหุ้น มาสู่การให้ความสำคัญด้านอื่น ๆ มากขึ้น นับเป็นการกลับมาของยุคทุนนิยมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders Capitalism) หรือการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งลูกค้า ผู้ผลิตวัตถุดิบ พนักงาน ชุมชน และผู้ถือหุ้น ที่เคยนิยมในอดีตก่อน ยุคของ Milton Friedman รวมถึงแนวโน้มของนักลงทุน ที่ได้ให้ความสำคัญต่อ ESG (Environment, Social, Governance) มากขึ้น หากเรามาดูการจัดอันดับ CEOs ที่ดีที่สุดในโลกของ Harvard Business Review ในปี พ.ศ. 2562 ก็จะพบว่าเกณฑ์ในการคัดเลือก CEO ไม่ได้มีเพียงผลการดำเนินงานด้านการเงินเพียงเท่านั้น แต่ยังใช้ ESG มาเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนถึง 30% เลยทีเดียว และหากมีการจัดอันดับในปีนี้ก็คงจะมีแนวโน้ม การให้ความสำคัญในด้านนี้มากกว่าเดิม แม้ HBR จะออกมาประกาศยกเลิกการจัดอันดับในปีนี้ไปก่อนแล้วก็ตาม

.

การประชุม World Economic Forumในปีนี้ที่กำหนดประเด็นหลักในการประชุมเป็นเรื่อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโลกที่มีความเชื่อมโยงกัน และมีความยั่งยืน (Stakeholders for a Cohesive and Sustainable World) รวมทั้งปรับแถลงการณ์ (Manifesto) ของการประชุมประจำปี โดยระบุเป็น เป้าหมายร่วมกัน (Universal Purpose) ขององค์กรธุรกิจไว้ว่า “เป้าหมายขององค์กรธุรกิจ คือการเข้าถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดขององค์กร ภายใต้การสร้างคุณค่าร่วมอย่างยั่งยืน”

.

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจน ที่ทำให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ คือ การลงนามใน Statement on the Purpose of a Corporation ขององค์กรธุรกิจชั้นนำ ภายใต้การร่วมมือใน Business Roundtable องค์กรที่มีอิทธิพลทางธุรกิจมากที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งมาแล้วกว่า 45 ปี และเป็นองค์กรที่มี CEO ของบริษัทขนาดใหญ่เป็นสมาชิกกว่า 200 บริษัท เช่น Accenture, Amazon, Apple, Boeing, Cisco, Coca-Cola โดยมีเนื้อหาระบุว่า...

.

แม้ทุกบริษัทจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน แต่ทุกบริษัทจะยึดมั่นในแนวทางที่ตกลงร่วมกัน คือ 1. นำเสนอคุณค่าให้กับลูกค้าตามที่ลูกค้าคาดหวัง หรือเกินความคาดหวัง 2. ลงทุนในบุคลากร ทั้งเรื่องค่าตอบแทน การอบรมและการพัฒนา 3. ปฏิบัติต่อ Suppliers ด้วยความยุติธรรม และมีจริยธรรม 4.สนับสนุนชุมชนที่เกี่ยวข้อง และสุดท้าย 5. สร้างมูลค่าในระยะยาวให้กับผู้ถือหุ้น

.

หากธุรกิจดำเนินการโดยให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในด้านใดมากเกินไป ก็จะไม่สามารถสร้างสมดุลที่ดีในการดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ควรสร้างคุณค่าที่ดีกว่าให้แก่สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อม ๆ กับการสร้างการเติบโตให้กับตนเอง เมื่อทำเช่นนั้นได้ ไม่เพียงแต่โลกที่จะรับประโยชน์ แต่ธุรกิจเอง ก็จะสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

.

Analyzed by BRANDigest

.

#BetterCorporate#BWi#BetterWorld#3Ps#NetPositiveImpact

423 views

Commenti


bottom of page