top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

FSC มาตรฐานที่ดีกว่า เพื่อป่าไม้ที่ยั่งยืน

Updated: Sep 8, 2021



การลดการใช้พลาสติก ตั้งแต่ขวด กล่อง ไปจนถึงถุงพลาสติก เป็นหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดโลกร้อนได้ ปัจจุบันทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ได้ร่วมกันรณรงค์พฤติกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากร้านค้าหลายแห่ง งดให้บริการถุงพลาสติกเหมือนสมัยก่อน และรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาใช้แทน เรามีทางเลือกของถุงผ้าที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการออกแบบทรง รวมถึงหน้าตาของกระเป๋า หรือแม้แต่ธุรกิจจัดส่งอาหารอย่าง Lineman และ Grab Food ก็รณรงค์ลดการใช้พลาสติก โดยเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก เมื่อสั่งอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างโลกที่ดีกว่าได้ ซึ่งนั่นคือการเลือกซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งผลดีต่อความเป็นอยู่ของผู้คนตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐาน FSC™ (FSC Standard) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์ป่าไม้ที่ยั่งยืนนั่นเอง

.

การปกป้องป่าไม้ และการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการสร้างโลกที่ดีกว่า เพราะนอกจากป่าไม้จะเป็นแหล่งรวมทรัพยากรที่สำคัญแล้ว ป่าไม้ยังเป็นแหล่งเกื้อกูลต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต รวมถึงเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศอีกด้วย มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างมหาศาล และยาวนาน ทั้งในภาคสังคมและภาคเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation) และทำให้ป่าเสื่อมโทรม (Forest Degradation) อย่างมาก เมื่อพิจารณาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ กิจกรรมดังกล่าวมีสัดส่วนมากถึง 11% นับเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน รองจากภาคพลังงาน นอกจากนี้โลกของเรายังประสบปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ จากการบุกรุกป่าและภัยธรรมชาติ จะเห็นได้จากป่าอเมซอน แหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญของโลก กำลังถูกทำลายอย่างรวดเร็ว โดยทุก ๆ 1 นาที พื้นที่ป่าขนาด 7,140 ตารางเมตร หรือประมาณ 1 สนามฟุตบอล ได้ถูกทำลายลงไป จากการบุกรุกป่าอย่างผิดกฎหมาย และเมื่อปี พ.ศ. 2562 พื้นที่ทางตอนใต้ของป่าอเมซอน ได้ถูกทำลายลงด้วยไฟป่า ในอัตราที่มากกว่าปี พ.ศ. 2561 ถึง 80% ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ได้เห็นตรงกันว่าสาเหตุหลักของการเกิดไฟป่านั้น มาจากการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์ การเผาพื้นที่เพื่อทำการเกษตร และภัยพิบัติทางธรรมชาติ

.

จากปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการจัดตั้งการรับรองป่าไม้ (Forest Certification) เพื่อคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้ทั่วโลก และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตในภาคธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในการร่วมมือกันเพื่อใช้ประโยชน์ และสร้างผลิตภัณฑ์จากป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการป่าไม้ (Forest Principles) เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสากล ด้วยการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาป่าไม้อย่างยั่งยืน (International Organization for Standardization: ISO) เพื่อให้องค์กรป่าไม้ทั่วโลกนำไปปรับใช้ ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (The Earth Summit) ปี พ.ศ. 2535 ที่ประเทศบราซิล ซึ่งประเทศไทยก็ได้ตกลงใช้ข้อผูกพัน และส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย ต่อมาได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ในการประชุมป่าไม้ของทวีปยุโรป ปี พ.ศ. 2536 โดยระบุว่า การนำสินค้าออกจากป่า จะต้องมีการดำเนินการอย่างมีมาตรฐาน ภายใต้หลักการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และติดฉลากรับรองสินค้าจากไม้ (Labelling)

.

ด้วยเหตุนี้ตัวแทนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการป่าไม้ ผู้ค้าไม้ องค์กรชุมชนท้องถิ่น สมาคมป่าชุมชน และสถาบันรับประกันผลผลิตจากป่าไม้ทั่วโลก จึงร่วมกันจัดตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ชื่อว่า Forest Stewardship Council (FSC) ขึ้น และได้กำหนดมาตรฐาน FSC™ (FSC Standard) ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนในการปกป้องทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจทั่วโลก โดยสินค้าที่ได้รับการการันตีด้วยมาตรฐาน FSC™ แสดงถึง การผลิตจากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ ผลิตจากพื้นที่ที่มีการจัดการป่าอย่างถูกต้องตามหลักการที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม สร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ ปัจจุบันหลายธุรกิจได้รับการรับรองจากมาตรฐาน FSC™ โดยแสดงสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์ เพื่อแสดงถึงการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างยั่งยืน เช่น อิชิตัน กรุ๊ป ที่จะเห็นสัญลักษณ์ FSC™ บนกล่อง UHT สำหรับทุกแบรนด์ในเครือ เช่น อิชิตันกรีนที เย็นเย็น และไบเล่ นอกจากนี้เต็ดตราแพ็ก (Tetra Pak) ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์อาหารชั้นนำของโลก ที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ให้กับ ฟาร์มเฮาส์ กุ๊ก และเด็กสมบูรณ์ ก็ได้ประทับตรา FSC™ บนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่ผ่านมาตรฐานมากกว่า 26,000 ล้านกล่องทั่วโลกอีกด้วย

.

การให้ความสำคัญต่อการปกป้องป่าไม้ตลอดห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ในความดูแล ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ และจำเป็นอย่างมากสำหรับภาคธุรกิจ เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมันมากกว่าเพียงการปกป้องพื้นที่ป่า และสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาป่าไม้ที่ถูกทำลาย ปัญหาภาวะโลกร้อน และปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย ซึ่งคุณค่าที่เกิดขึ้นยังรวมไปถึงการสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพราะธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน จากการที่บริโภคมีแนวโน้มเลือกสินค้าที่ดีต่อโลกมากกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดการร่วมมือกันของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่า ผ่านการเลือกใช้สินค้าและบริการที่มีมาตรฐาน FSC™

.

Analyzed by BRANDigest

.

339 views

Comments


bottom of page