top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

เป้าหมายสู่การเติบโต จากการ "ให้" มากกว่า "รับ"

Updated: Dec 11, 2020


การทำธุรกิจในปัจจุบัน การนำเสนอสินค้าและบริการเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะผู้บริโภคทุกวันนี้มีความคาดหวังว่าจะเห็นแบรนด์หรือองค์กรมีบทบาทมากขึ้นในการรับผิดชอบต่อสังคม จากการสำรวจความคาดหวังต่อแบรนด์หรือบริษัทในปัจจุบันของผู้บริโภคเกือบ 30,000 คนทั่วโลก ของ Accenture บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังระดับโลก พบว่า บริษัทที่มีจุดยืนในการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากกว่าการขายสินค้า มีการสื่อสารให้เห็นถึงวัตถุประสงค์และความมุ่งมั่นในการรับผิดชอบต่อสังคม จะสามารถดึงดูดผู้บริโภคและจูงใจการตัดสินใจซื้อ รวมไปถึงพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของแบรนด์ให้มีมากขึ้นได้

.

จากยุคการตลาดที่เน้นแค่การพัฒนาสินค้าและบริการ มาสู่ยุคที่ยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง จนถึงยุคที่ผู้ประกอบการต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภค และเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โลกให้น่าอยู่ขึ้นบนความเชื่อที่ว่านอกจากการทำเงินแล้ว แบรนด์หรือธุรกิจควรสร้างประโยชน์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย การทำธุรกิจที่ขับเคลื่อนโดยมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน (Purpose-Driven) จึงเป็นหนึ่งกลยุทธ์ที่เป็นที่นิยมด้วยเป้าหมายคือการช่วยเหลือสังคมส่วนรวมก่อน หรือคือการให้ความสำคัญกับการให้ (Give) มากกว่าการรับ (Get) นั่นเอง ด้วยอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียที่ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ ทำให้การสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคเป็นเรื่องสะดวก เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น การทำ Purpose-Driven จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อด้านอารมณ์และความรู้สึกระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค (Emotional Connection) รวมถึงการได้รับความเชื่อใจและความภักดีต่อแบรนด์จากผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภค Gen Y ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของหลายธุรกิจ

.

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการทำธุรกิจ Purpose-Driven ได้อย่างชาญฉลาด รองเท้าแบรนด์ดัง TOMS ที่มาพร้อมแคมเปญ One for One ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดว่ารองเท้าทุกคู่ที่ซื้อไป TOMS จะบริจาครองเท้าอีกคู่ให้กับเด็กที่ขาดแคลน ส่งผลให้ยอดขายรองเท้า TOMS พุ่งจาก 9 ล้านเหรียญสหรัฐไปอยู่ที่ 21 ล้านเหรียญสหรัฐในเวลาเพียง 3 ปี จนถึงทุกวันนี้ TOMS ก็ยังเป็นรองเท้าที่ผู้บริโภคจดจำในฐานะแบรนด์ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม จากรองเท้าราคาคู่ละ 9 เหรียญสหรัฐ แต่ลูกค้ายอมจ่ายแพงขึ้น 60 เหรียญสหรัฐเพราะความรู้สึกดีที่ได้มีส่วนช่วยเหลือสังคมนั่นเอง อีกธุรกิจหนึ่งที่ต้องพูดถึง คือ Patagonia แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาจากอเมริกาซึ่งดำเนินธุรกิจในรูปแบบ “Anti-Growth” หรือต่อต้านการเติบโต ที่โฆษณาด้วยข้อความห้ามลูกค้าว่าอย่าซื้อสินค้าของบริษัทหากไม่ต้องการจริง ๆ โดยแนบคำอธิบายว่ากว่าจะผลิตสินค้าแต่ละชิ้นออกมา มีธรรมชาติด้านใดบ้างที่ได้รับผลกระทบ นั่นเพราะเป้าหมายของบริษัทคือต้องการลดปริมาณการบริโภคเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม

.

เมื่อการแสดงออกถึงเป้าหมายที่ดีต่อสังคมสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความจริงใจ และตั้งใจที่จะช่วยเหลือสังคม ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมดีกว่าเดิม นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเป้าประสงค์ที่ชัดเจน จะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งกับตัวธุรกิจ พร้อมกันกับสังคมได้อย่างแน่นอน

.

Analyzed by BRANDigest

.

165 views

Comments


bottom of page