top of page
Search

การทำธุรกิจสีเขียว หนึ่งหนทางสู่โลกที่ดีกว่า



ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้ถูกทำลายลงไปมากมาย มลภาวะทางอากาศทำให้โลกร้อนมากขึ้น ซึ่งสาเหตุที่สำคัญที่สุดก็คือ การกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะในช่วงหลายสิบปีให้หลัง ที่การทำธุรกิจ และอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ ทำให้ความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการเก็บบันทึกข้อมูลในรอบ 141 ปี ของนักวิทยาศาสตร์แห่งศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (National Centers for Environmental Information: NCEI) เปิดเผยว่า อุณหภูมิโลกในมหาสมุทรประจำปี พ.ศ. 2563 ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 16.0 องศาเซลเซียส ของศตวรรษที่ 20 ถึง 0.83 องศาเซลเซียส และนับเป็นปีที่อุณหภูมิในมหาสมุทรสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกในปี พ.ศ. 2423 เมื่อความร้อนนี้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนบนโลก นานาประเทศจึงเริ่มตื่นตัว และตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังให้ความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหา และสร้างมาตรการในการจัดการปัญหาไปพร้อม ๆ กัน

.

แน่นอนว่าในภาคธุรกิจ ก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนี้เช่นกัน และเป็นเหตุผลว่าทำไม ธุรกิจจึงควรจัดการกับปัญหาข้างต้นอย่างจริงจัง และเป็นที่มาของการดำเนินธุรกิจสีเขียว (Green Business) หรือธุรกิจเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยมีการวางกลยุทธ์และทิศทางให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันผ่านแนวทางหลัก 3 ประการ ที่ภาคธุรกิจไม่ว่าบริษัท หรือภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ควรคำนึงถึง และยึดเป็นหลักการในการดำเนินธุรกิจของตนเอง

.

การลดการใช้อย่างสิ้นเปลืองลง หรือ ใช้ให้น้อยลง (Reduce) โดยใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ภายในองค์กรให้เกิดคุณค่า คุ้มค่า คุ้มราคาให้มากที่สุดเช่น การเพิ่มประสิทธิภาพ และความแม่นยำของเครื่องจักร เพื่อลดขยะที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต หรือเรื่องง่าย ๆ อย่างการใช้มู่ลี่กันสาดป้องกันแสงแดดส่องกระทบตัวอาคาร และบุฉนวนกันความร้อนตามหลังคา เพื่อลดการใช้พลังงานที่เกิดจากการใช้เครื่องปรับอากาศ

.

การนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และการนำกลับไปใช้งานที่ผ่านกระบวนการจัดการใหม่ก่อนนำไปใช้งาน (Recycle) เมื่อผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากร และความจริงที่ว่าทรัพยากรเหล่านั้นกำลังถูกทำลาย ผู้บริโภคจึงส่งเสริมธุรกิจที่ดำเนินการข้างต้น ด้วยความต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่ และนำทรัพยากรที่เสียไปกลับมาใช้ใหม่ ตัวอย่างเช่น การทำรายการส่งเสริมการขายของห้างสรรพสินค้า ที่กระตุ้นให้ลูกค้านำถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ หรือใช้ถุงผ้า เพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

.

การทำให้ทรัพยากรมีใช้อย่างเพียงพอด้วยการฟื้นฟู (Restoration) หมายถึง การดำเนินการเพื่อลดความเสื่อมโทรมของธรรมชาติด้วยการบำบัด สร้างทดแทน และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เช่น โครงการฟื้นฟูผืนป่า โครงการฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้งาน อย่างกลุ่มธุรกิจการทำกระดาษ ที่ปลูกต้นไม้ทดแทนหลังจากตัดต้นไม้นั้นมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ และในบางกรณีก็ปลูกด้วยปริมาณที่มากกว่าที่เสียไปอีกด้วย

.

การพัฒนาเพื่อให้ธุรกิจก้าวไปสู่ธุรกิจสีเขียว ต้องอาศัยทักษะ ความรู้ ทรัพยากร เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วนำมาผสมผสาน และประยุกต์ใช้กับแนวทางของกลุ่มองค์กรธุรกิจนั้น ๆ เอง ให้เกิดเป็นทิศทางเฉพาะของธุรกิจหนึ่ง ๆ ซึ่งการทำธุรกิจสีเขียวนั้น ก็ได้สร้างผลประโยชน์โดยตรงแก่ธุรกิจอยู่แล้วในการลดต้นทุนการผลิต หากธุรกิจสามารถถ่ายทอด และเชื่อมโยงคุณค่าของการเป็นธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าสิ่งที่ธุรกิจจะได้รับกลับมานั้น คือการเป็นหนึ่งองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน จากการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกนั่นเอง

.

Analyzed by BRANDigest

.

122 views

Comments


bottom of page