หลายคนอาจเคยจินตนาการถึงประเทศที่ดีกว่า ซึ่งก็มีนิยามแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของผู้คน ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ประเทศที่จัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือประเทศที่ไม่ปล่อยมลพิษไปทำลายสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้อาจฟังดูแตกต่างกันไปคนละด้าน แต่ในความจริงแล้ว มันคือผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น หากประเทศนั้นผลักดันเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการนำประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่ดีกว่า
.
ประเทศที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืนได้ดีที่สุดในโลกปีนี้ คือ เดนมาร์ก (Denmark) จากการจัดอันดับด้านความยั่งยืนของ 180 ประเทศทั่วโลกใน Environmental Performance Index (EPI) โดย Yale และ Columbia University ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพในการดำเนินการด้านความยั่งยืนของเดนมาร์ก จะเห็นได้จากปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของเดนมาร์ก ที่ลดลงกว่าครึ่งเทียบกับปี พ.ศ. 2539 นอกจากนี้ ยังประกาศจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ถึง 70% ภายในปี พ.ศ. 2573 และ กลายเป็นประเทศที่ไม่ปล่อยมลพิษ (Carbon Neutral) ภายในปี พ.ศ. 2593 อีกด้วย
.
การดำเนินการด้านความยั่งยืน ให้มีประสิทธิภาพแบบเดนมาร์ก ต้องอาศัยมาตรการที่มีความเข้มข้น การร่วมมือกันของภาครัฐ และเอกชน ซึ่งสิ่งที่เห็นได้จากการดำเนินการดังกล่าว คือการลงทุนในพลังงานทางเลือกที่ไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้พลังงานกว่า 47% ของประเทศผลิตมาจากพลังงานลม การสร้างโรงไฟฟ้าที่เปลี่ยนขยะปีละกว่า 440,000 ตัน ให้กลายเป็นพลังงานครอบคลุม 150,000 หลังคาเรือน โดยด้านบนหลังคาของโรงงานยังถูกออกแบบเป็นลานสกีจำลองให้ผู้คนมาเล่นได้อีกด้วย ในส่วนของการคมนาคม ถนนส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาให้ผู้คนปั่นจักรยานไปมา รถโดยสารประจำทางและเรือทั้งหมดถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ด้านความเป็นอยู่ โรงแรมในเมืองหลวง Copenhagen กว่าสองในสาม มีผู้จัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อดูแลการออกแบบ การผลิตพลังงานและอาหารให้มีความยั่งยืน นอกจากนี้ร้านอาหารส่วนใหญ่ ยังให้ความสำคัญกับการใช้วัตถุดิบธรรมชาติ (Organic) อย่างคุ้มค่า และไม่เกิดขยะอาหาร เราสามารถเรียนรู้จากการดำเนินการมากมายที่เดนมาร์กทำ และปรับใช้สิ่งที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างความยั่งยืน
.
ในขณะที่ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับด้านความยั่งยืนอยู่ในลำดับที่ 78 แม้จะอยู่ในลำดับครึ่งบน แต่จากตัวเลขดังกล่าว ก็ยังสะท้อนว่า เรายังมีพื้นที่สำหรับการพัฒนาประเทศเพื่อให้เข้าใกล้กับความยั่งยืนอีกมาก และมีอีกหลายประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไข โดยประเด็นที่ถูกจัดอันดับอยู่ท้ายสุดเทียบกับประเด็นอื่น คือประเด็นด้าน บริการระบบนิเวศ (Ecosystem services) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 140 จาก 180 ประเทศ ชี้วัดจากอัตราการสูญเสียต้นไม้ (Tree cover loss) พื้นที่ป่า (Grassland loss) และพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland loss) สะท้อนถึงปัญหาในเรื่อง ความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนที่ปล่อยออกมา ความหลากหลายทางชีวภาพ วัฎจักรของสารอาหาร และการปกป้องชายฝั่ง หากประเทศไทยจะดำเนินการด้านความยั่งยืน ก็อาจเริ่มจากในประเด็นนี้ ที่กำลังมีปัญหาอยู่ก่อน โดยอาจต้องเข้มงวดกับมาตรการอนุรักษ์ผืนป่า ดูแลพื้นที่เขตอนุรักษ์ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ส่วนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเดนมาร์ก อาจเป็นเรื่องพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยควรพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกจากเดิมที่เป็น 15% ให้มากกว่าเดิม
.
ทุกประเทศสามารถเป็นประเทศที่ดีกว่าได้ หากประเทศนั้นมุ่งแก้ไขปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตของผู้คน หรือการดำเนินไปของธุรกิจ โดยเรียนรู้แนวทางการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนในด้านต่าง ๆ แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม เพิ่มความสามารถในการปรับตัว ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสร้างความร่วมมือกันของแต่ละภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศที่ดีกว่า
.
Analyzed by BRANDigest
.
Comments