top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

เรียนรู้จากนอร์เวย์ ประเทศที่ผู้คนใช้ EV มากที่สุดในโลก


ภาคธุรกิจเป็นภาคส่วนที่มีทรัพยากร มีองค์ความรู้ มีศักยภาพอย่างมากที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน ผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค และดีต่อโลกด้วย แต่ในบางกรณี การจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงได้ก็มีอุปสรรค เช่น การลงทุนขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูง การปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่คุ้นชินกับการใช้งานและระบบแบบเดิมจึงยากที่จะเปลี่ยนแปลง แต่หากการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้มีผู้เล่นเพียงภาคธุรกิจอย่างเดียว แต่มีภาครัฐผู้กำหนดนโยบาย และออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เข้ามาร่วมมือ ให้การสนับสนุน เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เราก็จะเห็นประเทศถูกขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนอย่างรวดเร็ว เหมือนการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ของประเทศนอร์เวย์ นั่นเอง

.

จากเดิมที่นอร์เวย์เคยเป็นผู้นำในการผลิตน้ำมัน และส่งออกแก๊สธรรมชาติไปทั่วโลก ก่อให้เกิดมลพิษมากมาย ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2533 นอร์เวย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 51.7 ล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปล่อยมลพิษจากรถยนต์กว่า 11 ล้านคันต่อปี ทำให้ภาครัฐต้องหาวิธีลดมลพิษที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง จึงเป็นที่มาของการผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ผ่านการออกนโยบายที่จูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้งาน โดยเริ่มคิดตั้งแต่รากฐานและโครงสร้างการใช้งานทั้งหมด

.

ในปีนี้ รถยนต์กว่าครึ่งหนึ่งที่ถูกซื้อขายในนอร์เวย์ เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอัตราการส่วนการซื้อขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่สูงที่สุดในโลก แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำของโลก ยังมีอัตราส่วนเพียง 2% ของการซื้อขายรถยนต์ทั้งหมด นั่นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของความพร้อมใช้งาน แรงจูงใจของผู้บริโภคที่จะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า และการเดินหน้าสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนของแต่ละประเทศ ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้นอร์เวย์แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในเรื่องนี้คือการขับเคลื่อนจากภาครัฐ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในหลาย ๆ ด้าน จนไปถึงความร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าไปพร้อมกัน

.

นโยบายที่สำคัญในการขับเคลื่อนนี้ แบ่งออกเป็นนโยบายจูงใจด้านภาษี การงดเว้นภาษีค่านำเข้า ภาษีซื้อ และภาษีมูลค่าเพิ่ม ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทำให้ราคาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ใกล้เคียงหรือถูกกว่ารถยนต์พลังงานฟอสซิล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อมากขึ้น เมื่อซื้อแล้วก็ได้รับการลดหย่อนภาษีการใช้รถประจำปีจำนวนหนึ่ง ลดหย่อนภาษีรถยนต์ของบริษัท 40% ลดค่าทางด่วน และที่จอดรถของภาครัฐ กว่า 50% และสามารถใช้งานทางเดินรถของรถประจำทางได้

.

ในช่วงปี พ.ศ. 2552 - 2557 เพื่อเตรียมความพร้อม ให้สามารถใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ทั่วประเทศ รัฐบาลนอร์เวย์ลงทุนในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus Package) เพื่อสร้างสถานีเติมพลังงานไฟฟ้า กว่า 165 ล้านบาทในหัวชาร์จไฟแบบธรรมดา (Normal Charging) และ 165 ล้านบาทในหัวชาร์จไฟแบบเร็ว (Fast Charging) ซึ่งงบประมาณนี้ครอบคลุมเฉพาะการติดตั้งสถานี แล้วให้ภาคเอกชนรับผิดชอบค่าดำเนินการต่อไป โดยกระจายสถานีไปทั่วประเทศ จากแนวโน้มการใช้งานที่มากขึ้นของผู้คนอย่างเห็นได้ชัด ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2560 ภาคเอกชนหลายรายได้ลงทุนเพื่อเปิดสถานีเติมพลังงานไฟฟ้าโดยไม่พึ่งงบจากรัฐบาล ในเมืองใหญ่และถนนสายหลัก แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นขับเคลื่อนตัวเองของตลาด และการพัฒนาของสถานีที่เป็นผลจากการแข่งขันของภาคเอกชนซึ่งส่งผลดีกับโครงสร้างโดยรวมของอุตสาหกรรมนี้ จนกระทั่งในปัจจุบันมีสถานีเติมพลังงานไฟฟ้าพร้อมใช้งานกว่า 16,000 แห่ง ทั่วประเทศ

.

จากการศึกษาของ DNV GL องค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำของโลก ระบุว่าหากประเทศนอร์เวย์ไม่ได้มีมาตรการผลักดันการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ผ่านมา ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกที่ถูกปล่อยระหว่างปี พ.ศ. 2553 - 2593 คงสูงขึ้นกว่า 400 ล้านตัน นั่นคือความสำเร็จในการลดผลกระทบเชิงลบของนอร์เวย์จากนโยบายภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ โดยมีแผนจะให้รถยนต์ทุกคันที่ถูกซื้อขายในนอร์เวย์ เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในปี พ.ศ. 2568 อีกด้วย หากทุกประเทศมองว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนต้องเกิดจากการร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในประเทศ แล้วร่วมกันออกแบบประเทศของตนเองให้เดินหน้าสู่ความยั่งยืนพร้อมกัน ก็จะเป็นทางออกที่ดีของการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

.

Analyzed by BRANDigest

.

205 views

Comments


bottom of page