ในช่วงนี้ หลายคนอาจทราบถึงข่าวการเสนอขายหุ้นใหม่ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งทำให้นักลงทุนหลายรายทั้งรายเล็ก และรายใหญ่หันมาสนใจในการลงทุนครั้งนี้ โดยสิ่งหนึ่งที่เราสามารถสัมผัสได้คือ ผู้คนค่อนข้างให้ความสนใจต่อธุรกิจ OR จะเห็นได้การเข้าถึงข่าวสาร และวิธีการลงทุนในหุ้นนี้ผ่านสื่อออนไลน์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ในสื่อต่าง ๆ อาจมีหลายเหตุผลที่ทำให้ผู้คนสนใจร่วมลงทุนกับ OR ทั้งการเป็นธุรกิจสถานีน้ำมันที่มีสาขามากที่สุดในประเทศ หรือการเป็นส่วนหนึ่งในเครือของ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ ที่ดึงดูดนักลงทุนอีกจำนวนไม่น้อย คือคุณค่าที่ OR ยึดถือ และธุรกิจสามารถเรียนรู้คุณค่าเหล่านี้ แล้วนำไปปรับใช้เพื่อสร้างการเติบโตที่ดีกว่าในอนาคต
.
สิ่งแรกที่สามารถเรียนรู้ได้คือ การให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม OR ดำเนินธุรกิจภายใต้พันธกิจที่กล่าวถึงการสร้างคุณค่า และการมีส่วนร่วมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ตั้งแต่ ประเทศโดยการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน, สังคมชุมชนโดยบริหารจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี, ผู้ถือหุ้นโดยสร้างผลตอบแทนที่ดี และการเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน, คู่ค้าโดยดำเนินธุรกิจร่วมกันบนพื้นฐานของความเป็นธรรม และสร้างความร่วมมือที่ดี, ลูกค้าโดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล จนไปถึงพนักงานโดยพัฒนาความสามารถการทำงานระดับมืออาชีพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ก็ทำให้ OR ได้รับการสนับสนุนตลอดการดำเนินธุรกิจ ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างมั่นคง
.
การช่วยเหลือผู้ร่วมธุรกิจในยามจำเป็น จะเห็นตัวอย่างได้จากช่วงสถานการณ์วิกฤต COVID-19 ที่ได้มีการปรับรูปแบบธุรกิจให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และคู่ค้าในหลายด้าน เช่น เพิ่มช่องทางการบริการใหม่ ๆ อย่าง Cafe Amazon Delivery ช่วยเหลือ Franchise ด้วยการออกโปรโมชันต่าง ๆ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อผู้เช่าพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการลดค่าเช่า ลดค่า Royalty Fee และ Marketing Fee เพื่อให้คู่ค้ายังสามารถดำเนินธุรกิจ และเติบโตได้แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตก็ตาม
.
อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถเรียนรู้ได้คือการให้ความสำคัญกับ ESG (Environment, Social, Governance) OR เห็นว่าการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล คือหัวใจสำคัญในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน จึงปลูกฝังหลักคิดและการทำงาน ให้คำนึงถึง ESG เสมอ เช่น การให้ความสำคัญกับชุมชนรอบสถานประกอบการทั้งที่คลังปิโตรเลียม และสถานีบริการน้ำมัน รวมถึงให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้คนหลายกลุ่มในประเทศ ได้แก่ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยร่วมดูแล พัฒนา และสร้างการเติบโตไปพร้อมกับ OR อีกด้วย
.
ตัวอย่างการดำเนินการเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของชุมชน ผ่านการพัฒนาตลาดให้กลายเป็นศูนย์กระจายสินค้าและ Logistic โดยมีโครงการ ไทยเด็ด เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งโครงการนี้ เป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันคัดเลือกผลิตภัณฑ์แปรรูปของวิสาหกิจชุมชนที่เป็นของดีของเด่นประจำท้องถิ่น ไปวางจำหน่ายบน “มุมสินค้าไทยเด็ด” ในสถานีบริการ PTT Station นับเป็นการสนับสนุนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ มอบองค์ความรู้ที่ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่วิสาหกิจชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างให้เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่คนในชุมชน
.
ส่วนการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ตั้งแต่ การเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B10 B20 รายแรก ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า และการเตรียมความพร้อม สู่การใช้พลังงานทางเลือกสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งปัจจุบันมี สถานี EV (PTT EV Station) แล้วกว่า 25 สาขาทั่วประเทศ จนไปถึงการสร้างสรรค์ Circular Living ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพและรู้คุณค่า ในร้าน Cafe Amazon บรรจุภัณฑ์ที่ใช้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ วัสดุและเฟอร์นิเจอร์ที่นำมาตกแต่งทั้งภายในและภายนอกร้าน ทำมาจากวัสดุเหลือใช้ทั้งจากภายในร้าน Café Amazon โรงคั่วกาแฟ และขยะพลาสติกที่นำมาแปรรูปและออกแบบเป็นของตกแต่ง เช่นในสาขาสามย่าน
.
เส้นทางสู่การเป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่ และได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน อาจเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากการกระจายการเติบโตไปยังคนรอบข้าง จะทำให้ธุรกิจได้รับแรงสนับสนุนกลับมา นอกจากนี้การเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมและชุมชนดีขึ้น รวมถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าของธุรกิจและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป
.
Analyzed by BRANDigest
.
Comments