วันนี้วันที่ 70
จากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนกระจัดกระจายไปสู่ทุกมุมโลก กว่า 199 ประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม วันแรกที่ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อ จนมาถึงวันนี้ COVID-19 อยู่กับคนไทยมาแล้วเป็นเวลากว่า 3 เดือน เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไทยบ้างมาดูกัน...
สุขอนามัย
เหตุการณ์ในครั้งนี้ สะท้อนให้เราเห็นภาพได้ค่อนข้างชัดว่า คนไทยให้ความสำคัญกับความสะอาดและสุขอนามัยมากขึ้น นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการล้างมือก่อนมื้ออาหาร หลังเปิดประตู ขึ้นรถ หรือลงรถ โรคระบาดนี้กำลังสอนให้ทุกคนมีสติมากขึ้น เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิตแต่ละวัน ตั้งแต่การสวมหน้ากากก่อนออกจากบ้าน พกเจลแอลกอฮอล์ติดตัว พยายามไม่เอามือจับหน้า จะไอหรือจามต้องใช้กระดาษทิชชู และล้างมือแทบจะทุก ๆ สิบนาที ซึ่งสุดท้าย ต่อให้จะมีการระบาดของเชื้อไวรัสนี้หรือไม่ การดูแลรักษาความสะอาดจนเป็นนิสัย ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพของทุกคนในสังคม
วิถีการทำงาน
ตั้งแต่มีมาตรการจากรัฐบาลในการปิดสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงการขอความร่วมมือในการให้ประชาชนอยู่ในที่พักอาศัย ไม่ออกไปไหน ทำให้หลายองค์กรมีนโยบายทำงานจากที่บ้าน พนักงานจึงต้องเรียนรู้และปรับตัวที่จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่เงื่อนไขของกฎกติกาหย่อนลง
การเสพข่าวสาร
ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้คนหันมาสนใจความเป็นไปของประเทศและโลกมากขึ้น เราจะตื่นตัวกับการติดตามข่าวสารการแพร่ระบาดเพิ่มเติมวิธีการรักษาโรค ความเคลื่อนไหวและการรายงานจากภาครัฐ เอกชน ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงใส่ใจในความถูกต้องของข่าวสารที่ได้รับ แน่นอนว่าถ้าคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษา วัยรุ่น วัยทำงาน ให้ความสนใจกับความเป็นไปของสังคมมากขึ้น มีความรู้รอบตัวมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันในการรับข้อมูลข่าวสาร ก็น่าจะเป็นการปูพื้นฐานสำหรับการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต
ความรับผิดชอบ
เป็นเรื่องที่น่าดีใจและน่าชื่นชม ที่เราได้เห็นผู้คนจำนวนมากในสังคมให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากาก การล้างมือ การปิดสถานที่ การไม่อยู่รวมกันหลาย ๆ คน การกักตัว ฯลฯ ถึงแม้ว่ามันอาจไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100% แต่เราเห็นความพยายามของคนส่วนมาก ที่พยายามทำหน้าที่รับผิดชอบตัวเอง และมีการรณรงค์ชักชวนกันให้นึกถึงคนรอบข้าง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม
ถึงแม้ว่าเหตุผลหลักของพฤติกรรมเหล่านี้อาจมาจากความกลัวและความหวาดระแวง แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่าสุดท้ายเราก็สามารถสร้างผลลัพธ์ในเชิงบวกต่อสังคมได้ ความกลัวอาจเป็นเครื่องมือที่ดีในบางสถานการณ์อย่างเช่นวิกฤตในครั้งนี้ และเมื่อไหร่ที่เราเอาชนะ COVID-19 ได้แล้ว เรายังคงอยากให้พฤติกรรมในเชิงบวกเหล่านี้ยังคงอยู่กับคนไทย เพราะเมื่อทุกคนพยายามเป็นพลเมืองที่ดีกว่า (Better Citizen) แน่นอนว่าเราจะได้อยู่ในสังคมที่ดีกว่า (Better Society) และช่วยกันสร้างประเทศที่ดีกว่าได้อย่างแน่นอน (Better Country)
ที่มา :
World Health Organization
The Standard
Commenti