จากภูมิประเทศทางตอนใต้ของประเทศไทย ที่ติดกับทะเลทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่งทะเลอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย ซึ่งมีระยะทางชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,148 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด ทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ จากมูลค่าผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 กว่า 21.517 ล้านล้านบาท ด้านสังคมจากการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นผ่านการสร้างอาชีพของคนในชุมชนริมทะเล รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม จากความหลากหลายของระบบนิเวศ การรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม จึงเป็นกลไกที่จะทำให้ประเทศไทย ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล และสามารถพัฒนาประเทศ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 14 ได้
การเติบโตของระบบทุนนิยมของประเทศไทย ทำให้ธุรกิจบางกลุ่มมุ่งแข่งขันเพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากพอ ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยวที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การประมงที่ผิดกฎหมาย หรือภาคอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ แม้กิจกรรมเหล่านี้จะสร้างความมั่งคั่ง ให้กับผู้ประกอบการในระยะสั้น แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว และทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างถาวร
ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น มาตรการลดผลกระทบจากขยะ มาตรการคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในช่วงฤดูวางไข่ และช่วงก่อนวัยเจริญพันธุ์ ติดตั้งแนวปะการังเทียมแบบบูรณาการ และฟื้นฟูหญ้าทะเล ประเทศไทยยังมีสถานีตรวจวัดค่า pH เพื่อแก้ปัญหาความเป็นกรดของมหาสมุทร ซึ่งวิเคราะห์ตามมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ (Global Ocean Acidification Observing Network : GOA-ON) เพื่อร่วมเฝ้าระวังผลกระทบของปัญหาดังกล่าวอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของภาคเอกชนและภาคประชาชน เช่น การดำเนินการฟื้นฟูแนวปะการังเสื่อมโทรมบริเวณเกาะไม้ท่อน เกาะราชาใหญ่ และเกาะไข่ ผ่านความร่วมมือของนักดำน้ำอาสาสมัคร ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวดำน้ำ ชาวประมง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโครงการ “ชายหาดปลอดบุหรี่” โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
อีกหนึ่งความท้าทายของประเทศไทย คือการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (llegal, unregulated and unreported fishing : IUU) ซึ่งทำลายแหล่งทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างรุนแรง แต่ความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้ในหลายด้าน เช่น ด้านกรอบและการบังคับใช้กฎหมาย การบริหารจัดการการประมง การติดตาม ควบคุมและเฝ้าการประมงที่ผิดกฎหมาย ส่งผลให้สหภาพยุโรป ประกาศปลดสถานะใบเหลืองให้กับภาคประมงในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการแก้ไข เพื่อยกระดับการทำประมงเชิงพาณิชย์สู่มาตรฐานสากล และเพื่อแสดงความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศ และภูมิภาค
การขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เกิดจากความรู้ ความเข้าใจในปัญหา และร่วมมือกัน ปกป้อง รักษา และฟื้นฟูธรรมชาติ เพื่อให้ระบบนิเวศทางทะเลอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป
ที่มา : กองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง European Commission Thailand’s Voluntary National Review on the Implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development 2019
Comments