แม้เราจะเห็นเศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นจากช่วงวิกฤต จนตลาดหุ้นในปัจจุบันคงอยู่ที่ประมาณ 1,400 - 1,500 จุด เทียบกับช่วงเดือนมีนาคม ที่ตลาดหุ้นดิ่งลงไปเหลือเพียง 1,003.39 จุด แต่เมื่อมองไปยังประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งฝั่งตะวันตก และเอเชียหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยทำได้ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ มาก ถึงแม้ว่าบางประเทศจะยังประสบปัญหาการแพร่ระบาดที่ยังควบคุมไม่ได้ด้วยซ้ำ ซึ่งนับว่าเป็นแนวโน้มที่ไม่ดีนัก และเป็นสัญญาณว่า เราอาจมีอุปสรรคในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ทุกประเทศต้องพึ่งพาตนเอง สร้างความแข็งแกร่ง และประคองเศรษฐกิจไปพร้อมกับควบคุมการแพร่ระบาดอย่างช่วงนี้..
.
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วเหมือนประเทศอื่น เป็นเพราะประเทศไทยขาดการบุคลากร และการศึกษาในด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นแนวโน้มในการพัฒนาของทั่วโลก จากการศึกษาของ KKP Research เกียรตินาคินภัทร พบว่าโครงสร้างของตลาดหุ้นไทยยังขาดบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี ซึ่งหุ้นกลุ่มนี้คิดเป็น 3% ของตลาด ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ มีสัดส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสูงถึง 28% ส่วนไต้หวันมีสัดส่วนที่ 57% โดยบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหุ้นไทย 10 อันดับแรกยังเป็นบริษัทที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม (Old Economy)
.
คงเป็นการยากหากประเทศไทยต้องการที่จะแข่งขันกับต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก หรือประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ หากประเทศไทยยังคงมีเพียง “ความทันสมัย” สามารถเข้าถึงการใช้งานผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีระดับสูง อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ต่าง ๆ หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ แต่ยังขาด “การพัฒนา” ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี หรือการสนับสนุนจากภาครัฐ จะเห็นได้จากเม็ดเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ที่อยู่ในสัดส่วน 0.8% ของ GDP ต่ำกว่ามาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งมี 1.4 และ 2.1% ของ GDP รวมถึงประสิทธิภาพของการผลิตนวัตกรรมยิ่งต่ำกว่า เมื่อวัดจากจำนวนการจดสิทธิบัตรต่อจำนวนประชากรหนึ่งล้านคน ไทยผลิตได้เพียง 35 สิทธิบัตร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง (171 สิทธิบัตร) และมาเลเซียที่มี 126 สิทธิบัตร อยู่หลายเท่าตัวเลยทีเดียว
.
อาจถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วน ต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างถูกจุด สร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ผ่านนโยบายกระตุ้นการลงทุน สร้างระบบการศึกษาที่หลากหลาย มีส่วนร่วมในการสร้างแรงงานที่ตอบโจทย์กับความต้องการในตลาด และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนทางเทคโนโลยีภายในประเทศ กับภาคธุรกิจที่นำเอาเทคโนโลยีมาต่อยอดเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง หรือสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศไทยเกิดความทันสมัย ไปพร้อมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
.
Analyzed by BRANDigest
.
Comentários