top of page
Search

พลังงานเปลี่ยนธุรกิจต้องปรับ


ปัญหาการเจรจาที่ยืดเยื้อในการประชุมเพื่อหารือแนวทางออกสำหรับแผนการผลิตน้ำมันดิบ ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ร่วมกับประเทศพันธมิตรอย่างรัสเซีย แสดงถึงสถานการณ์อันน่าเป็นห่วงของตลาดน้ำมันโลก จากจุดยืนในการลดกำลังการผลิตที่แตกต่างกัน แม้ในปัจจุบันจะมีการลดอัตราการผลิตน้ำมันดิบ ไป 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงปลายปีนี้แล้ว และราคาน้ำมันดิบก็กลับขึ้นมาเป็น 48 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แต่มันก็ยังห่างไกลจากราคาเดิมก่อนช่วงการระบาด ที่ 60 - 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล การตัดสินใจลดหรือเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในปีหน้าของประเทศผู้นำ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย ภายใต้สถานการณ์ที่ยากต่อการคาดเดา และมีความเสี่ยงรอบด้านแบบนี้

.

จากการวิเคราะห์ของ BCS Global Markets พบว่าราคาน้ำมันอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็น 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ภายในปลายปีหน้า แสดงให้เห็นว่า การฟื้นตัวของราคาน้ำมันมีแนวโน้มดีขึ้น แต่จะไม่กลับไปสูงเท่าตอนก่อนเกิดวิกฤต ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลในรายงานของ BP บริษัทน้ำมันรายใหญ่ในสหราชอาณาจักร ที่ระบุว่า ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอาจไม่กลับมา 100% หลังจากวิกฤต COVID-19 คลี่คลาย เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงที่มาจากถ่านหิน จะถูกทดแทนโดยพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานที่ถูกผลิตจากลม แสงอาทิตย์ หรือจากน้ำ นอกจากนี้ BP ได้ตั้งสมมติฐานว่า หากทุกคนตื่นตัวเรื่องพลังงานสะอาดมาก ๆ ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2050 จะลดลงถึง 80% เลยทีเดียว

.

ไม่เพียงจากฝั่งของผู้ผลิต แต่จากฝั่งของธุรกิจที่ทำหน้าที่ให้บริการเติมน้ำมัน ก็ได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดน้อยลงของผู้บริโภคในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง แม้เราจะเห็นแนวโน้มของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทางเลือกมาตั้งแต่หลายปีก่อน แต่การเกิดวิกฤต COVID-19 ก็เปรียบเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น จะเห็นได้จากการประกาศปลดพนักงานของบริษัทน้ำมันรายใหญ่หลายรายของโลก ไม่ว่าเป็น Shell ที่ปรับลดพนักงานกว่า 9,000 คนภายใน 3 ปีนี้ ExxonMobil หรือแม้แต่ BP เองที่เตรียมปลดพนักงานกว่า 1,600 และ 10,000 คน ภายในปีหน้า โดยทุกบริษัทต่างให้เหตุผลเดียวกันว่าเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมน้ำมันที่หดตัวลง และการปลดพนักงานเป็นการลดต้นทุนก้อนใหญ่ของบริษัท หรือหากเรามองดัชนี Dow Jones หรือดัชนีหุ้นสหรัฐอเมริกา เราก็จะพบว่าเหลือบริษัทน้ำมันเพียงแค่บริษัทเดียวคือ Chevron เท่านั้น

.

นอกจากประเด็นด้านการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดต้นทุนแล้ว บริษัทน้ำมันเหล่านี้ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ExxonMobil ประกาศจะลดการปล่อยมลพิษ 10-15% จากการผลิตน้ำมันแต่ละบาร์เรล ภายในปี พ.ศ. 2568 หรือ Shell ที่ประกาศจะก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ไม่ปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2593 ไม่ว่าการตั้งเป้าหมายเหล่านี้จะเป็นผลมาจาก การเห็นความสำคัญของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม จากแรงกดดันของนักลงทุน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่จากนโยบายของประธานาธิบดี Joe Biden ที่ประกาศจะเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานออกจากอุตสาหกรรมน้ำมัน และสนับสนุนพลังงานทางเลือก ซึ่งอาจส่งผลให้การตั้งเป้าหมายในการลดมลพิษเหล่านั้น ไม่เพียงพอต่อการบรรเทาความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น และอาจต้องปรับให้เร็วขึ้น รวมถึงลงทุนในพลังงานทางเลือกมากขึ้นในที่สุดอีกด้วย

.

เมื่อผู้บริโภค และธุรกิจมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจแบบเดิม การใช้พลังงานแบบเดิม ทั้งในด้านของผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม จนไปถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม ทุกคนก็อาจตั้งคำถามถึงแนวทางที่ดีกว่า และช่วยกันขับเคลื่อนสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้น ธุรกิจอาจต้องมองเห็นปัญหาลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด และมองหาแนวทางการเติบโตครั้งต่อไปที่ดีกว่า หากธุรกิจดำเนินการโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ให้ความสำคัญต่อการเติบโตภายใต้สามปัจจัยพื้นฐาน นอกจากจะเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจอีกด้วย

.

Analyzed by BRANDigest

.

121 views

Comments


bottom of page