top of page
Search

ทำไมอาหารจากพืช ถึงส่งผลดีต่อผู้คน ธุรกิจ และโลก ?


ปฎิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มที่เน้นการดูแลสุขภาพ และบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยกระแสการบริโภคหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มนี้ คือ อาหารจากพืช (Plant-based Food) อาหารที่มีพืชเป็นส่วนประกอบไม่ต่ำกว่า 95% ซึ่งเป็นกาะแสการบริโภคที่เป็นมิตรทั้งต่อสุขภาพของผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม จากการศึกษา ในปี พ.ศ. 2562 ของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) พบว่ากลุ่มวัยกลางคนที่รับประทานอาหารจากพืชที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณมาก และบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในปริมาณที่ต่ำ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจน้อยลง ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน นอกจากนี้ มีผลสำรวจที่พบว่าประเทศสหรัฐอเมริกาใช้น้ำกว่า 50% ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร และในการผลิตเนื้อสัตว์ 453 กรัม ต้องใช้น้ำมากถึง 9,000 ลิตร เมื่อเทียบกับการใช้น้ำเพื่อผลิตธัญพืชในปริมาณเดียวกันกับเนื้อสัตว์ โดยใช้น้ำเพียงแค่ 95 ลิตรเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าอาหารจากพืช นอกจากจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้บริโภคแล้ว ยังลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตอาหาร นอกจากนี้ก็ยังเป็นการสนับสนุนการคุ้มครองสัตว์ และสวัสดิภาพสัตว์อีกด้วย

.

ในมุมมองของการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาหารจากพืชยังนับเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมอาหารทั้งในไทยและทั่วโลก ข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai Compass) ระบุว่า ในอีก 3-4 ปีข้างหน้าตลาด อาหารจากพืชจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ตามกระแสของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ อีกทั้งยังเผยว่า จากการศึกษาของบริษัทวิจัยตลาดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product Development) ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในสหรัฐอเมริกา ที่เปลี่ยนมารับประทานอาหารเพื่อสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงการระบาดของ COVID-19 พบว่า ผู้บริโภคในประเทศสหรัฐอเมริกา 23% หันมารับประทานเนื้อจากพืช (Plant-based Meat) และในปี พ.ศ. 2562 ยอดสั่งซื้อเนื้อจากพืชของร้าน Foodservice เติบโตถึง 37% อีกทั้งยังพบว่าเมนูอาหารจากพืช เพิ่มขึ้นจาก 1.9% ในปี พ.ศ. 2551 เป็น 11.2% ในปี พ.ศ. 2561 ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้โภคในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของตน และใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

.

ความท้าทายเกิดขึ้นกับธุรกิจอาหารจานด่วน (Fast Food) ธุรกิจอาหารที่มุ่งเน้นความสะดวก รวดเร็วในการรับประทาน ในขณะที่อาหารในอุตสาหกรรมนี้ มักประกอบไปด้วยแป้ง และไขมัน จึงไม่ตอบโจทย์กระแสการบริโภคเพื่อสุขภาพมากนัก แบรนด์อาหารจานด่วนที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกอย่าง McDonald’s จึงได้หันมาปรับตัว และได้กำหนดกรอบแนวคิดแห่งความยั่งยืน 5 อย่าง (Sustainability Framework) เมื่อปี พ.ศ. 2563 ได้แก่ อาหาร (Food), แหล่งที่มาของวัตถุดิบ (Sourcing), โลก (Planet), ผู้คน (People) และ ชุมชน (Community) โดยได้พัฒนาสูตรอาหารให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และให้ความสำคัญกับความยั่งยืนภายใต้กรอบแนวคิดดังกล่าวมากขึ้น อันเป็นที่มาของการตอบรับแนวโน้มอาหารเพื่อสุขภาพ และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากการปรับคุณค่าทางโภชนาการอาหารในชุด เมนูอาหารสำหรับเด็ก (Happy Meal) ให้มีพลังงานต่ำกว่า 600 แคลอรี่ ปรับปรุงอาหารให้ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น อย่างการใช้เนยแทนมาการีนในเมนูบางประเภท ใช้น้ำเชื่อมข้าวโพดแทนน้ำตาล และใช้เนื้อไก่ที่เลี้ยงโดยธรรมชาติ และล่าสุด McDonald’s ประเทศไทย ได้เปิดตัวเมนูอาหารจากพืช อย่าง แมคข้าวกะเพรา แพลนต์เบส โปรตีนจากพืช 100% รวมถึงกำลังพัฒนา เบอร์เกอร์เนื้อจากพืช (McPlant) โดยจะวางขายที่ร้าน McDonald’s ทั่วโลก พร้อมกับเมนูไก่ทอด และแซนด์วิชจากพืชอีกด้วย

.

ธุรกิจอาหารทั้งเล็กและใหญ่ ในไทยและต่างชาติ มองเห็นแนวโน้มกระแสอาหารจากพืชที่กำลังเป็นที่นิยมครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และกำลังขยายไปในกลุ่มผู้บริโภคอื่น ๆ มากขึ้น การปรับตัวนี้นอกจากจะทำเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการสร้างคุณค่าทั้งในด้านความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน (Well-being) จากการบริโภคในแบบที่ดีกว่า แบบที่สร้างเสริมสุขภาพและลดโอกาสการเจ็บป่วย ในด้านการยกระดับสิ่งแวดล้อม (Environmental Enhancement) ที่ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตอาหาร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับโลก พร้อมทั้งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth)ในตลาดใหม่ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับธุรกิจ นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการดำเนินธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร พร้อมกับการสร้างคุณค่าที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่าไปพร้อมกัน

.

Analyzed by BRANDigest

.

316 views

Comments


bottom of page